นอกจากนี้รัฐบาลพยายามดูแลราคาน้ำมันดีเซลให้มีเสถียรภาพที่ดี พร้อมน้อมรับหากมีการดำเนินการตามกฎหมายในเรื่องที่รัฐบาลผลักดัน และเชื่อว่าประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้าได้ต้องแก้ปัญหาเดิมไม่สร้างปัญหาใหม่ และยังได้นำเสนอวีดีทัศน์ ชี้ถึงวิกฤติเศรษฐกิจโลก พร้อมอธิบายถึงกรอบการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ว่า มาตรการทางด้านการคลังจะดำเนินการให้สอดรับกับมาตรการการเงิน ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณครอบคลุม รัฐมนตรีทุกกระทรวงสามารถชี้แจงรายละเอียดได้ และเป็นส่วนสำคัญที่จะทำงานคู่ขนานให้เกิดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคม
นายกิตติรัตน์ ยังระบุว่า นอกจาก พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2557 แล้ว ในส่วนของ พ.ร.บ.เงินกู้เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท และ พ.ร.บ.เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท เพื่อบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ เป็นส่วนสำคัญในการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว
ด้านนายอนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ ว่า จะมีการขึ้นภาษีน้ำมันดีเซล แต่ราคาน้ำมันจะไม่สูงขึ้น โดยจะได้ประโยชน์ 3 ฝ่าย คือ ประชาชนที่จะใช้น้ำมันไม่เกิน 30 บาท ส่วนรัฐบาลสามารถเก็บเงินเพิ่มได้ และมีเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น
ขณะที่นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 รัฐบาลไม่ได้รับรู้ในประเด็นปัญหาปากท้องของประชาชน เพราะเน้นลดการขาดดุลจาก 3 แสนล้านบาท เหลือ 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งไม่ใช่การใช้ฝีมือในการบริหารงานของรัฐบาล แต่ผลักภาระให้ประชาชน ทั้งการปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล หรือการเพิ่มราคาก๊าซหุงต้มกิโลละ 10 บาท ทั้งนี้ไม่ควรตัดสิทธิ์ในสิ่งที่ประชาชนควรจะได้ประโยชน์ แต่ควรตัดในส่วนของโครงการประชานิยม
นายกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากการเพิ่มค่าแรง 300 บาท/วัน ไม่ได้ทำให้แรงงานภาคชนบทมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นจริง ขณะที่การปรับเพิ่มเงินเดือนปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาทนั้น ในส่วนของราชการยังไม่ปรับเพิ่มขึ้นจริงอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ยังปล่อยให้ราคาสินค้าแพงทั้งแผ่นดิน รวมทั้งหนี้สินภาคประชาชนยังสูงถึง 9 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 4 แสนบาทต่อครัวเรือน ประชาชนเกินครึ่งของผู้มีหนี้สิน ไม่สามารถมีเงินออมได้ จึงมองว่าการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 นำไปแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด
นายกรณ์ ยังได้ทวงถามถึงความรับผิดชอบจากนายกิตติรัตน์ที่เคยระบุว่าจะแสดงความรับผิดชอบหากโครงการรับจำนำข้าวขาดทุนมากกว่าโครงการประกันราคาข้าวสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์
ด้านนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย อภิปรายเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการจัดสรรงบประมาณ ให้กับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยเฉพาะงบประมาณที่จะใช้กับผู้สูงอายุถือเป็นเรื่องสำคัญ
นายสุรพงศ์ โตวิจักษ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ ในฐานะที่กำกับดูแลกระทรวงวิทยาศาสตร์ ชี้แจงการจัดสรรงบประมาณที่ใช้ในการวิจัยว่ารัฐบาลจัดสรรอย่างเพียงพอ แต่บางส่วนที่ได้งบไปแล้วไม่มีผลกลับมา ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โต้ว่า รัฐบาลไม่เข้าใจงานวิจัย อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม บรรยากาศในการอภิปรายตลอดทั้งวันเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ช่วงบ่ายที่ผ่านมาจะมีการประท้วงไปมาหลังฝ่ายค้านอภิปรายพาดพิงถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เรื่องเกี่ยวกับพลังงาน และยังพาดพิงถึงกรณีไฟฟ้าในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ดับด้วย
นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน ชี้แจงเหตุไฟดับภาคใต้เพราะฟ้าผ่า ย่านจอมบึง ทำให้การจ่ายไฟฟ้ามีปัญหา ซึ่งหลังจากเกิดปัญหาได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาถาวร คือต้องเปลี่ยนสายส่งจากบางสะพานถึงหาดใหญ่ เป็น 500 เควี เพื่อให้การจ่ายไฟเป็นไปอย่างคล่องตัว ดังนั้นการจะต้องปิดไฟบางจุดจะต้องเกิดขึ้นบ้าง ทั้งนี้ปัญหาเรื่องพลังงานไฟฟ้านั้น ไม่ได้มีความเสี่ยงเฉพาะภาคใต้ กทม.ก็มีความเสี่ยง แต่รัฐบาลได้วางแผนในการรองรับ เช่น ตอนปิดซ่อมโรงไฟฟ้าที่พม่าในเดือน เม.ย.56 ก็มีมาตรการรองรับทำให้ไม่เกิดปัญหา ส่วนที่จะมีการปรับขึ้นราคาแก๊สครัวเรือนนั้นเป็นเพราะขณะนี้ได้นำเงินกองทุนน้ำมันจากผู้ใช้น้ำมันดีเซลมาสนับสนุน ดังนั้นจึงต้องทำให้เป็นไปตามราคาตลาด แต่รัฐบาลยังดูแลผู้มีรายได้น้อยอยู่
ส่วนนายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า สภาพัฒน์ได้ปรับประมาณการคาดการณ์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังใช้ตัวเลขเดิม โดยที่รัฐบาลไม่มีการชี้แจงแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ถดถอย โดยตัวเลขการส่งออกปรับลดลงจาก 11 % เหลือ 7.6% และผ่านมากว่า 4 เดือนเพิ่มขึ้นแค่ 1.6% จะไปถึงเป้า 11% ได้อย่างไร ซึ่งโกหกสีขาวมีได้เพียงครั้งเดียวหากมีอีกครั้งจะทำให้ประเทศหมดความน่าเชื่อถือ
การส่งออกที่ถดถอยเป็นเพราะปัญหาจากนโยบายจำนำสินค้าเกษตรของรัฐบาล โดยขณะนี้เหลือข้าวในสต็อก 15-16 ล้านตัน หากทำต่อไปประเทศไทยจะพังอย่างแน่นอน ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.) ใช้งบไปกับการจำนำสินค้าเกษตรแล้วถึง 6.71 แสนล้านบาท ซึ่งอาจผิดเงื่อนไขที่ไทยในฐานะสมาชิกองค์การการค้าโลกเคยไปเซ็นลงนามไว้ อีกทั้ง ที่ผ่านมาสภาพัฒน์ฯได้ให้ข้อมูลว่าโครงการรับจำนำข้าวจะขาดทุน 4 -5 แสนล้านบาทต่อปีและยังมีแนวโน้มจะทำต่อไป ดังนั้นจึงไม่สามารถเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยการเอาเงินภาษีประชาชนไปจ่ายได้
นอกจากนี้กรณีที่รัฐบาลระบุว่ายังไม่สามารถสรุปความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวได้ เพราะยังไม่มีการปิดบัญชีนั้น ขณะนี้ผู้ที่เป็นทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการปิดบัญชีฯ ก็ถูกย้ายไปแล้ว ซึ่งมีการปิดบัญชีว่าขาดทุนไปแล้ว 2.6 แสนล้านบาท แต่ยังไม่มีการเปิดเผยออกมา ทั้งที่ประธานคณะกรรมการฯ คนนี้ถือเป็นคนทำงานดี มีความรู้ความสามารถสังคมให้การยอมรับ แต่โครงการจำนำข้าวมีคนได้ประโยชน์ เพราะจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจมีโรงสีกว่า 600โรง มีรายได้เพิ่มขึ้นหลายร้อยล้านบาท และในขณะนี้สินค้าขายดีที่สุดคือ รถเฟอร์รารีและปอร์เช่ ซึ่งลูกหลานของโรงสีเป็นผู้ซื้อ ทั้งที่มาจากเงินภาษีประชาชน และคงต้องหวังพึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ให้เร่งตรวจสอบอย่างรวดเร็ว ก่อนที่ประเทศจะเสียหายมากกว่านี้
นายเกียรติ กล่าวว่า ปัญหาที่ทำให้สิ่งของมีราคาแพงขณะนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหานโยบายการกำกับพลังงาน จนทำให้ประชาชนเดือดร้อน แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐมนตรี 3 คน แต่นโยบายเหมือนเดิม เพราะมีการผูกขาดธุรกิจพลังงานตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางของกลุ่มธุรกิจกลุ่มเดียว โดยผลกำไรตกไปอยู่กับผู้ถือหุ้น ทำให้ประชาชนต้องใช้จ่ายแพงกว่าที่จำเป็น โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ ปตท.ถือหุ้นใน 6 โรงกลั่นน้ำมัน