เมื่อสอบถามถึงร่าง พ.ร.บ. ที่มีผู้เสนอ 2 ฉบับ พบว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานส่วนใหญ่ ร้อยละ 43.9 เห็นว่า ยังไม่เหมาะสมทั้ง 2 ฉบับ รองลงมาร้อยละ 26.2 เห็นว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนายเฉลิม อยู่บำรุง ที่ให้นิรโทษกรรมให้ทุกฝ่าย รวมถึงแกนนำและผู้สั่งการ มีความเหมาะสม และอีกร้อยละ 8.9 เห็นว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนายวรชัย เหมะ ที่เสนอให้นิรโทษกรรมเฉพาะมวลชนทุกกลุ่มการเมือง ไม่รวมแกนนำและผู้สั่งการ มีความเหมาะสม โดยมีกลุ่มตัวอย่างอีกร้อยละ 15.1 เห็นว่ามีความเหมาะสมทั้ง 2 ฉบับ
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มตัวอย่างอีกร้อยละ 5.8 มีความเห็นอื่นๆ โดยส่วนใหญ่ตอบว่าไม่มีความรู้/ไม่ทราบรายละเอียด เกี่ยวกับเรื่องร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเลย และเห็นว่าไม่ใช่เรื่องที่มีความสำคัญในขณะนี้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามต่อถึงความเห็นของกลุ่มตัวอย่างว่า การที่พรรคเพื่อไทย พยายามผลักดันเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และ พ.ร.บ.ปรองดอง อยู่นั้น ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนหรือไม่ พบว่า ร้อยละ 55.5 เห็นว่าเป็นเรื่องที่มีความเร่งด่วน โดยให้เหตุผลที่หลากหลาย โดยส่วนใหญ่เห็นว่า ต้องการปล่อยให้เป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะจัดการตามที่เห็นว่าเหมาะสม และต้องการให้บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปรกติ มีความปรองดอง ลดความขัดแย้ง ส่วนอีกร้อยละ 44.5 ที่ตอบว่า การผลักดันเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และ พ.ร.บ.ปรองดอง ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ควรไปแก้ไขปัญหาด้านอื่นที่เร่งด่วนกว่า เช่นด้านค่าครองชีพ ปากท้อง การศึกษาและสาธารณสุข รวมทั้งเห็นว่า ควรดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ นอกจากนี้ยังมีบางกลุ่มให้เหตุผลว่า ควรชะลอการนำเข้าสู่การพิจารณา เพราะประชาชนยังไม่ทราบรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว
นอกจากนี้ เมื่อสอบถามถึงข้อเสนอต่อพรรคเพื่อไทย ในการผลักดัน พ.ร.บ. ปรองดองแห่งชาติ และ พ.ร.บ. นิรโทษกรรม กลุ่มตัวอย่างชาวอีสาน ก็มีความเห็นที่หลากหลาย เช่น ควรปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ควรเน้นพัฒนาและแก้ปัญหาด้านอื่นมากกว่าเร่งช่วยเหลือพวกพ้อง ควรดำเนินการอย่างชัดเจนโปร่งใส ให้ความรู้ความเข้าใจต่อประชาชนทุกระดับผ่านสื่อต่างๆ และจัดให้มีการทำประชามติ เป็นต้น
การทำสำรวจดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1-2 มิ.ย. 2556 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,500 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ