"ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 62.62 ระบุว่า ต้องการให้นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คืนตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) แก่นายถวิล เปลี่ยนศรี เพราะศาลได้ตัดสินแล้ว ควรเคารพการตัดสินของศาล นายกควรแสดงความโปร่งใสในการใช้อำนาจของรัฐเพื่อยุติความขัดแย้ง และนายถวิล เปลี่ยนศรี ก็ใกล้จะเกษียณอายุราชการแล้ว รองลงมา ร้อยละ 32.35 ระบุว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ควรยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครอง เพราะนายกรัฐมนตรีน่าจะมีเหตุผลในการตัดสินใจ เพื่อหาบุคคลที่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่ง" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ขณะเดียวกัน หากนายกรัฐมนตรียื่นอุทธรณ์คดีดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด ประชาชนร้อยละ 61.50 เห็นว่า นายถวิล ควรยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง พร้อมทั้งต่อสู้คำอุทธรณ์ในศาลปกครอง รองลงมาร้อยละ 27.64 ระบุว่า นายถวิล ไม่ควรยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. แต่ใช้กระบวนการต่อสู้คำอุทธรณ์ในศาลปกครองเพียงอย่างเดียว ขณะที่ร้อยละ 2.00 ระบุว่า นายถวิล ไม่ต้องทำอะไร ควรยอมรับและปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เพราะใกล้จะเกษียณอายุราชการแล้ว
และเมื่อถามถึงบุคคลที่มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง(ข้าราชการประจำ ระดับ 11 หรือเทียบเท่า) ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 53.83 ระบุว่า ควรเป็นคณะกรรมการที่ไม่ขึ้นตรงต่อฝ่ายการเมืองพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย รองลงมาร้อยละ 41.21 เป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เกี่ยวข้องพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย และร้อยละ 1.36 อยากให้ทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรีไปจนถึงภาคส่วนของ ประชาชน และองค์กรอิสระ เข้ามาตรวจสอบถึงการทำงานของข้าราชการ และร่วมพิจารณาตัดสินใจ และจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณธรรมจริยธรรมด้วย
"ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 62.62 รับรู้และเข้าใจดีว่า การย้ายคุณถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ เป็นการย้ายด้วยเหตุผลทางการเมือง ไม่ได้มาจากเหตุผลเรื่องความบกพร่องในการทำงานหรือการทำงานที่ไม่มีประสิทธิผล ไม่มีประสิทธิภาพหรือการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่ ประชาชนส่วนใหญ่จึงเห็นว่าควรคืนตำแหน่งเลขาธิการความมั่นคงแห่งชาติให้กับคุณถวิล" นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า กล่าวแสดงความคิดเห็นต่อผลสำรวจครั้งนี้
ทั้งนี้ นิด้าโพลได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,252 คนในเรื่อง "คำสั่งศาลปกครองกลางกับการคืนตำแหน่งเลขาฯ สมช." ระหว่างวันที่ 4-6 มิถุนายนที่ผ่านมา