"ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับ 4 บริษัทที่เข้าร่วมประมูลโครงการน้ำ เพราะมีขั้นตอนการคัดเลือกอย่างชัดเจน โดยมีคณะอนุกรรมการฯคัดเลือกถึง 53 คน" นายนิวัฒน์ธำรง กล่าว
ส่วนกรณีที่วิจารณ์ถึงราคาของแต่ละบริษัทเสนอเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคากลางเพียงเล็กน้อยนั้น นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า ราคาที่เสนอมานั้นยังไม่ใช่ราคาที่จะใช้ลงนามในสัญญา แต่จะมีคณะกรรมการฯ ต่อรองราคากับบริษัทที่ได้คะแนนสูงสุดอีกครั้ง ตามเกณฑ์มาตรฐานราคาของราชการที่สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ ทั้งนี้หากไม่สามารถต่อรองราคากับบริษัทที่ได้คะแนนสูงสุดก็จะเรียกบริษัทที่ได้คะแนนในลำดับถัดไปมาพูดคุย และหากยังไม่สามารถได้ราคาที่เหมาะสม ก็ไม่มีการจัดซื้อจัดจ้างในโมดูลนั้นๆ
ทั้งนี้ รัฐบาลจะดำเนินการภายใต้กรอบ พ.ร.ก.เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ที่จะต้องดำเนินการภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ แต่หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงการจัดซื้อจัดจ้างในรูปแบบการใช้งบประมาณปกติ โดยเตรียมพิจารณาทำสัญญาย่อยจากสัญญาหลักในแต่ละโมดูลตามข้อเสนอของ ป.ป.ช. ซึ่งขณะนี้อัยการสูงสุดกำลังพิจารณาสัญญาดังกล่าวเพื่อให้เกิดความถูกต้องต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา นายธงทอง จันทรางสุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำวงเงิน 2.9 แสนล้านบาท ได้เรียกประชุมคณะทำงานฯ และได้เชิญกลุ่มบริษัทเอกชน 2 รายเข้ามาต่อรองราคาก่อสร้าง โดยรอบเช้าเป็นการต่อรองกับกลุ่มบริษัทค้าร่วมล็อกซเลย์ ที่ชนะคะแนนทางเทคนิค ในโมดูล A6 และ B4 เรื่องระบบคลังข้อมูลเพื่อการพยากรณ์และเตือนภัย
ส่วนช่วงบ่ายเชิญกิจการร่วมค้า ซัมมิทเอสยูที ที่ชนะคะแนนด้านเทคนิคในโมดูล B2 การจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมชุมชนและเศรษฐกิจหลัก สำหรับพื้นที่ 17 ลุ่มน้ำ วงเงินโครงการ 14,000 ล้านบาท ซึ่งกิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที เสนอราคาที่ 13,933 ล้านบาท จากเพดานที่ 14,000 ล้านบาท