ครั้งแรก ครม.มีมติในการจำนำข้าว 15 ล้านตัน ครั้งที่สองจะมีการรับจำนำอีก 7 ล้านตัน โดยใช้เงินทุน ธ.ก.ส.จำนวน 90,000 ล้านบาท และกู้จากสถาบันการเงิน 410,000 ล้านบาท หากจะมีมาตรการใดมาช่วย ธ.ก.ส.หรือเกษตรกรก็สามารถทำได้เพราะเป็นมติ ครม. แต่ทั้งนี้เมื่อถึงวันที่ 31 ธ.ค.56 ต้องมีการรับจำนำข้าวไม่เกิน 22 ล้านตัน และอยู่ในวงเงิน 500,000 ล้านบาท ตามมติ ครม.ที่เคยให้ไว้ ซึ่ง ครม.ไม่ได้ให้งบและการรับจำนำข้าวเพิ่มแต่อย่างใด และที่ประชุมจึงมีมติให้นำเงินที่ได้จากการระบายผลผลิตตั้งแต่ปี 54/55 ไปชำระเงินในส่วนของ ธ.ก.ส.ก่อน เพื่อให้นำเงินเหล่านั้นกลับไปหมุนเวียนในโครงการต่อไป ซึ่งไม่ได้เป็นการผลักภาระให้ ธ.ก.ส.อย่างที่ถูกกล่าวหา
ส่วนเรื่องการจ่ายเงินให้กับพี่น้องเกษตรกรนั้น ก็ได้รับรายงานจาก ธ.ก.ส.แล้วว่า ตอนนี้ได้สำรองจ่ายเงินให้เกษตกรที่มาจำนำข้าวไปแล้ว จึงเป็นไปไม่ได้ที่พรรคประชาธิปัตย์กล่าวหาว่าเกษตรกรไม่ได้รับเงินอุดหนุน
"การแสดงวาทกรรมของนายชวนนท์ และพรรคประชาธิปัตย์ บอกเลยว่าไม่สามารถลดเครดิตของรัฐบาลได้ แต่กลับทำให้ฝ่ายค้านเองดูไม่น่าเชื่ออีกตามเคย และยืนยันว่าโครงการรับจำนำข้าวไม่ได้ลดเครดิตรัฐบาลแต่อย่างใด เรายังเชื่อในระบบการทำงานที่โปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ เพียงแต่ตอนนี้เราต้องเข้าใจว่าโครงการนี้ยังไม่สิ้นสุด เพราะฉะนั้นรายละเอียดเรื่องตัวเลขนั้นก็ต้องใช้เวลา" รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
พร้อมยืนยันว่า โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่เอื้อประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกรโดยตรง แต่ต้องยอมรับว่าโครงการนี้ก็ต้องมีขาดทุน เพราะที่ผ่านมาขาดทุนทุกสมัย เพราะเป็นโครงการที่มุ่งช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาจริงๆ และรัฐยืนยันในการที่จะเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวต่อไป
ส่วนเรื่องตัวเลขก็ต้องรอดูกันว่าตัวเลขที่รัฐบาลจะนำมาแจงนั้นจะเป็นไปตามที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาแถลงหรือไม่ เพราะถ้าหากข้อมูลที่พรรคประชาธิปัตย์เอาออกมานั้นผิดและสร้างความเสียหายให้แก่รัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์จะมีการออกมารับผิดชอบอย่างที่นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวไว้หรือไม่
"อยากขอร้องให้พรรคประชาธิปัตย์เลิกแสดงวาทกรรมโจมตีโครงการรับจำนำข้าวเสียที อย่าใช้ปัญหาที่เกิดขึ้นมาแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง และขอร้องให้รอฟังข้อมูลจากรัฐบาลเสียก่อน เพราะถ้าหากสงสัยหรือเคลือบแคลงใจอย่างไรก็ค่อยมาว่ากัน" นายภักดีหาญส์ กล่าว