In Focusโสมแดงเสนอตัวเจรจานิวเคลียร์...จริงใจหรือไก่กา

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 19, 2013 13:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เกาหลีเหนือไม่ยอมให้คณะผู้ตรวจการของสำนักงานปรมาณูสากล (IAEA) เข้าตรวจสอบโรงงานที่ต้องสงสัยว่ามีอาวุธนิวเคลียร์ และหลังจากนั้นไม่นานก็ประกาศถอนตัวจากสนธิสัญญาห้ามแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีที่ยืดเยื้อมาจนถึงทุกวันนี้

ยั่วยุ

สถานการณ์ความตึงเครียดระลอกล่าสุดปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 เมื่อเกาหลีเหนือทำการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์โดยไม่สนใจคำเตือนของนานาชาติ หนึ่งเดือนต่อมาสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ได้ทำการซ้อมรบร่วมกัน ซึ่งทำให้เกาหลีเหนือไม่พอใจอย่างมาก จนถึงขั้นประกาศภาวะสงครามกับเกาหลีใต้ในวันที่ 30 มีนาคม จากนั้นมาสถานการณ์ก็เลวร้ายลงเรื่อยๆ โดยในช่วงต้นเดือนเมษายน เกาหลีเหนือประกาศเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ยองบยอน พร้อมกับปิดกั้นคนงานเกาหลีใต้ไม่ให้เข้านิคมอุตสาหกรรมแกซองและผลักดันคนงานชาวเกาหลีใต้ทั้งหมดออกจากพื้นที่ จากนั้นในเดือนพฤษภาคม เกาหลีเหนือได้ยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้อีกหลายครั้ง สร้างความตื่นตระหนกให้กับนานาประเทศเป็นอย่างมาก

ความหวัง

สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นบ้าง เมื่อเกาหลีเหนือได้เสนอจัดการเจรจากับเกาหลีใต้ในประเด็นต่างๆ ซึ่งรวมถึงการเปิดนิคมอุตสาหกรรมแกซองและการเปิดเทือกเขาคัมกังให้นักท่องเที่ยวเยี่ยมชมอีกครั้ง ซึ่งทางเกาหลีใต้ก็ยอมรับข้อเสนอดังกล่าว ในวันที่ 9 มิถุนายน เจ้าหน้าที่ระดับคณะทำงานของ 2 ประเทศจึงได้หารือกันที่หมู่บ้านปันมุนจอมซึ่งอยู่บริเวณชายแดนของสองประเทศ ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุความเข้าใจร่วมกันในบางส่วน จนนำไปสู่การจัดการเจรจาระดับรัฐมนตรีที่กรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ ในวันที่ 12-13 มิถุนายน ซึ่งเป็นการเจรจาระดับรัฐมนตรีของสองเกาหลีครั้งแรกในรอบ 6 ปี

ฝันสลาย

ประชาคมโลกต่างมีความหวังว่าสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น แต่การเจรจาครั้งแรกในรอบหลายปีระหว่างสองเกาหลีกลับพังลงตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มต้น เนื่องจากทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ตกลงกันไม่ได้เรื่องตัวแทนของแต่ละฝ่าย โดยหัวหน้าคณะเจรจาของเกาหลีใต้เป็นเพียงระดับรัฐมนตรีช่วยแทนที่จะเป็นระดับรัฐมนตรี ซึ่งเกาหลีเหนือถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติกัน แต่ทางเกาหลีใต้ปฏิเสธที่จะเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะเจรจา ทางเกาหลีเหนือจึงยกเลิกการส่งตัวแทนฝ่ายตนเอง พร้อมกับตำหนิเกาหลีใต้ว่าไม่มีความตั้งใจที่จะเจรจามาตั้งแต่ต้น และพยายามทำให้เกิดอุปสรรคจนการเจรจาพังพาบไปในที่สุด

กลับลำ

ในวันที่ 16 มิถุนายน หรือไม่กี่วันหลังแผนการเจรจากับเกาหลีใต้พับไป เกาหลีเหนือก็ทำให้ทั่วโลกงงอีกครั้งด้วยการเสนอให้มีการเจรจาเจ้าหน้าที่ระดับสูงเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ความตึงเครียดรวมถึงสร้างสันติภาพและความมั่นคงในคาบสมุทรเกาหลี แต่ในครั้งนี้ เกาหลีเหนือได้ขอเจรจากับ “สหรัฐอเมริกา" พร้อมกับหยอดลูกอ้อนว่า ทางสหรัฐสามารถตัดสินใจได้ว่าจะจัดการเจรจาขึ้นที่ไหนและเมื่อใด แต่สหรัฐตอบกลับอย่างเด็ดขาดว่าจะเจรจาต่อเมื่อเกาหลีเหนือล้มเลิกโครงการนิวเคลียร์อย่างเป็นรูปธรรมก่อน ไม่ใช่เอาแต่พูดอย่างเดียว หลังจากนั้นประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐ ได้หารือทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีปัก กึน-เฮ ของเกาหลีใต้ และผู้นำทั้งสองเห็นพ้องกันว่าจะร่วมมือกันทำให้เกาหลีเหนือล้มเลิกโครงการอาวุธนิวเคลียร์ในที่สุด

แอบแฝง

การที่เกาหลีเหนือแสดงท่าทีกระตือรือร้น (จนผิดวิสัย) ที่จะแก้ปัญหาในคาบสมุทรเกาหลีนั้น หลายฝ่ายมองว่าน่าจะมีเบื้องหลังแอบแฝง โดยบางส่วนมองว่าเกาหลีเหนือพยายามทำตัวดีขึ้นเพราะต้องการให้นานาชาติยกเลิกการคว่ำบาตร แต่สหรัฐก็รู้ทันและตอบกลับไปแล้วว่า สหรัฐจะยอมเจรจากับเกาหลีเหนือหากเกาหลีเหนือล้มเลิกโครงการนิวเคลียร์ และการเจรจาที่จะเกิดขึ้นต้องไม่มีความพยายามที่จะยกเลิกการคว่ำบาตร ขณะที่บางส่วนมองว่าเกาหลีเหนือก็แค่พยายามถ่วงเวลาและทำตัวดีแบบขอไปทีเท่านั้น เพราะเกาหลีเหนือเคยผิดคำพูดหลายครั้งแล้ว และครั้งนี้ก็ไม่มีอะไรรับประกันว่าเกาหลีเหนือจะทำตามที่พูด

ขาดจีนถือหาง

นอกจากนี้ บางส่วนยังเชื่อว่าเกาหลีเหนือปรับปรุงพฤติกรรมของตนเองเพราะพี่ใหญ่อย่าง “จีน" ไม่ได้ให้ท้ายเหมือนแต่ก่อน โดยเมื่อวันที่ 7-8 มิถุนายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนได้เดินทางเยือนสหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้นำจีนและผู้นำสหรัฐเห็นพ้องต้องกันว่า เกาหลีเหนือไม่สมควรที่จะครอบครองหรือดำเนินโครงการอาวุธนิวเคลียร์ โดยจีนและสหรัฐจะประสานงานกันเพื่อหาทางดำเนินการให้เกาหลีเหนือปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์ อย่างไรก็ดี จีนอาจจำเป็นต้องแสดงท่าทีเช่นนี้เพราะถูกนานาชาติกดดัน และจำเป็นต้องปรามเกาหลีเหนือให้เพลาๆลงบ้าง เพราะสหรัฐอาจอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงและเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคมากเกินไป

ในวันนี้ที่กรุงปักกิ่ง นายจาง เย่อซุย รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศจีน จะหารือกับนายคิม กี-กวาน รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศคนที่หนึ่งของเกาหลีเหนือ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทวิภาคีและสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลี หากจีนตั้งใจที่จะทำให้เกาหลีเหนือปลอดอาวุธนิวเคลียร์จริง คงจะมีการส่งสัญญาณอะไรบางอย่างไปถึงเกาหลีเหนือแล้ว และหากเกาหลีเหนือตั้งใจที่จะคลี่คลายสถานการณ์ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีจริง ก็คงมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นรูปธรรม ท่าทีโอนอ่อนของเกาหลีเหนือจะเป็นความตั้งใจจริงหรือเป็นเพียงละครอีกฉากหนึ่งนั้น คงต้องดูกันอีกยาว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ