อย่างไรก็ตาม หากเป็นกรณีของการขาดทุนในส่วนของกำไร หรือได้กำไรน้อยลง ก็ต้องขอให้เข้าใจเหตุผลของรัฐบาลว่า จำเป็นต้องปรับโครงการให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริงของชาวนาที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนราคาข้าวในตลาดโลก และวินัยการเงินการคลังของประเทศ
"ยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับชาวนาทุกคน และโครงการจำนำข้าวเป็นนโยบายที่ดี ซึ่งรัฐบาลจะไม่ยกเลิก และในระยะต่อไป รัฐบาลจะออกมาตรการช่วยเหลือ เพื่อเพิ่มรายได้ให้ชาวนาและเกษตรกรอื่น ๆ เช่น การปฏิรูปเกษตรโซนนิ่ง เพื่อจูงใจให้เกษตรกรเลือกปลูกพืชผลทางการเกษตรที่มีราคาดีและมาตรการลดต้นทุนการเพาะปลูกให้เกษตรกร เช่น การควบคุมราคาปุ๋ยหรือเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น" ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าว
ส่วนข้อกล่าวหาเรื่องทุจริตโครงการรับจำนำข้าวนั้น รองโฆษกฯ กล่าวว่า รัฐบาลจะเอาจริงกับการลงโทษผู้ที่ฉกฉวยผลประโยชน์จากชาวนา โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ ธ.ก.ส. รายงานคณะรัฐมนตรีเป็นลายลักษณ์อักษรว่าได้โอนเงินให้เกษตรกรไปแล้วทั้งสิ้นจำนวนเท่าไหร่ เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่ามีเงินของพี่น้องเกษตรกรรั่วไหลไปบ้างหรือไม่ หากพบว่ามีจริงจะดำเนินการอย่างเด็ดขาด
นอกจากนี้ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังได้ชี้แจงถึงโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทว่า ตามที่พรรคฝ่ายค้านประกาศจะยื่นถอดถอน ครม.ทั้งคณะ กรณีการบริหารโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทนั้นถือเป็นสิทธิ์ที่ทำได้ ซึ่งรัฐบาลมีความพร้อมและยินดีที่จะชี้แจง เนื่องจากกระบวนการต่างๆ ในการทำงานมีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้กว่าจะถึงกระบวนการคัดเลือกภาคเอกชนที่จะมาดำเนินโครงการได้มีกระบวนการพิจารณาผู้เสนอตัวกว่า 300 รายจากทั่วโลก
ขณะเดียวกันที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้มีการรับฟังเสียงสะท้อนจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปร่วมหารือและนำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ที่มีประโยชน์และสามารถนำมาปฏิบัติได้ มาปรับใช้กับโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลแล้ว สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลมีความมั่นใจในความบริสุทธิ์และโปร่งใสของโครงการ และยินดีเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบโครงการด้วย