FATF ถอดไทยออกจาก Public Statement ปท.บกพร่องด้านป้องกันฟอกเงิน-สนับสนุนก่อการร้าย

ข่าวการเมือง Tuesday June 25, 2013 15:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (เลขาธิการ ป.ป.ง.) กล่าวว่า จากการเดินทางไปร่วมประชุมเต็มคณะของ คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (Financial Action Task Force) หรือ FATF ณ กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผานมา เพื่อชี้แจงความคืบหน้าในการปรับปรุงระบบ AML/CFT ของไทย

ก่อนหน้านี้ FATF ได้ออกประกาศสาธารณะ (Public Statement) กำหนดรายชื่อให้ไทยเป็นประเทศที่มีข้อบกพร่องเชิงยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ตามมาตรฐานสากลในด้านการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (Anti — Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism — AML/CFT)

ทั้งนี้ จากการประชุมเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2556 ที่ประชุมรับรองผลการตรวจประเมินระบบ AML/CFT ของไทยและมีมติถอดรายชื่อไทยออกจาก Public Statement อย่างสมบูรณ์

ในเอกสารชื่อ Improving Global AML/CFT Compliance : On-going process ที่ประชุม FATF ได้กล่าวถึงไทยความว่า FATF มีความยินดีต่อความก้าวหน้าครั้งสำคัญของไทยในการปรับปรุงระบบ AML/CFT และรับทราบว่าไทยได้จัดตั้งกรอบทางกฎหมายและการกำกับดูแลเพื่อบรรลุพันธกิจตามแผนปฏิบัติการที่มุ่งขจัดข้อบกพร่องเชิงยุทธศาสตร์ที่ FATF ได้ระบุไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ดังนั้น ไทยไม่อยู่ในกระบวนการติดตามความก้าวหน้าของ FATF อีกต่อไป ไทยจะยังคงร่วมงานกับ APG ในการแก้ไขข้อบกพร่องด้าน AML/CFT ส่วนที่เหลืออยู่ตามที่ระบุไว้ใน Mutual Evaluation Report

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม คือ หน่วยงานของไทยควรให้ความรู้ และสนับสนุนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่มีผลบังคับใช้แล้ว ทั้งนี้ สถาบันการเงินต่าง ๆ มีความมุ่งมั่น และการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลได้อย่างมีประสิทธิผล สำนักงาน ปปง. ควรออกแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน เช่นในกรณีของ บุคคลที่ครอบครองทรัพย์สินของบุคคลที่ถูกกำหนด อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบอาชีพที่ไม่ใช่สถาบันการเงินบางรายยังขาดความเข้าใจในกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ซึ่งสำนักงาน ปปง. ควรออกแนวทางปฏิบัติและชี้แจงสร้างความเข้าใจกับกลุ่มผู้ประกอบอาชีพดังกล่าวต่อไป

แม้ว่ามีมาตรการลงโทษทางอาญากับผู้มีหน้าที่ในการระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินของบุคคลที่ถูกกำหนดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ปปง. ยังไม่มีมาตรการทางปกครองในการลงโทษที่เป็นโทษปรับในกรณีเดียวกันกับกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

มาตรการให้บุคคลที่ถูกกำหนดเข้าถึงทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการบังคับใช้กับผู้ถูกกำหนดตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (บุคคลที่ถูกกำหนดรายชื่อโดยศาลไทย) โดยไม่รวมถึงบุคคลที่ถูกกำหนดตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน (บุคคลที่ถูกกำหนดโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ