นายยัม ฮคองเชิล ผู้อำนวยการสหพันธ์สิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้(Korean Federation Environmental Movement:KFEM) กล่าวว่า หลังจากทราบว่าเควอเตอร์ชนะการประมูลแผนพัฒนาการทรัพยากรน้ำใน 2 แผนของประเทศไทย ทำให้รู้สึกกังวลอย่างมาก กลัวว่าจะมีปัญหาตามมาภายหลัง ทั้งปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ตามมา และปัญหาเรื่องงบประมาณค่าใช้จ่ายที่เกินกว่าราคาเสนอโครงการ เพราะเควอเตอร์มีประวัติที่ไม่ดีนัก
เนื่องจากบริษัทดังกล่าวเป็นรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการในการพัฒนาระบบน้ำ แต่ต่อมาเควอเตอร์มารับงานก่อสร้างอื่นๆ เช่น การสร้างระบบน้ำประปาในพื้นที่อุตสาหกรรมและเมืองใหญ่ จากนั้นก็ย้ายมาก่อสร้างด้านการพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำ การก่อสร้างพนังกั้นน้ำท่วม ซึ่งไม่ใช่งานหลัก ทั้งๆ ที่ก่อตั้งมาในฐานะรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีทุนสนับสนุนโดยรัฐบาลที่ถือหุ้นมากถึง 99% และมีผู้บริหารระดับสูงที่แต่งตั้งโดยประธานาธิบดีเกาหลีใต้ นอกจากนี้ยังพบว่า ในปี 2012 เควอเตอร์มีทรัพย์สินอยู่ที่ 676,000 ล้านบาท และหนี้สินประมาณ 372,000 ล้านบาท ส่วนภาษีเงินได้ของบริษัทอยู่ที่ 99,000 ล้านบาท
ช่วงระยะเวลา 3 ปี(51-53) ที่เควอเตอร์ดำเนินโครงการสร้างเขื่อนใน 4 แม่น้ำและคลองกังงิน รวมระยะทางทั้งหมด 600 กม. โดยใช้งบประมาณสูงถึง 5,945,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทระบุว่าเป็นการสร้างฟลัดเวย์ และแก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้งของเกาหลีใต้ นั้น พบว่า ผลจากการก่อสร้างก่อหนี้สินสูงขึ้นถึง 758% ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่ประสบความล้มเหลวของเควอเตอร์มากที่สุด โดย 50% ของงบประมาณนั้น เควอเตอร์ใช้เพื่อการบำรุงรักษาโครงการหลังก่อสร้าง ซึ่งความล้มเหลวดังกล่าวทำให้คนเกาหลีใต้เกือบ 80% ต่อต้านโครงการสร้างเขื่อนดังกล่าว
เรื่องความไม่โปร่งใสเรื่องการเงินนั้นอยู่ในช่วงการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินของเกาหลีใต้ และสำนักงานตรวจสอบการทุจจริต เพราะเข้าข่ายทำผิดกฏหมายการเงิน ส่วนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมนั้นเกิดขึ้นมากมายเช่นกัน ซึ่งเขื่อนใน 4 แม่น้ำ สร้างปัญหาสาหร่ายเขียว(Green late) ทำลายระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในแม่น้ำของเกาหลีใต้ ทำให้สัตว์และพืชสำคัญเสียหายอย่างรุนแรง ดังนั้น เควอเตอร์จึงเข้าข่ายทำผิดกฎหมายสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งทางภาคประชาชนจะเร่งตั้งคณะทำงานจากองค์กรอิสระและภาคประชาชะเพื่อตรวจสอบ กรณีปัญหาดังกล่าวและสรุปนำเสนอสาธารณะอีกครั้ง
ขณะที่นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า โครงการ 3.5 แสนล้านของรัฐบาลนั้นมีการดำเนินการที่ไม่เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน สะท้อนชัดว่ารัฐบาลมีการให้ข้อมูลที่บิดเบือน ไม่แสดงข้อมูลเท็จจริง ที่โปร่งใส ทำให้ชาวบ้านเกิดความสับสน
อย่างกรณีของเควอเตอร์ที่ชนะการประมูลแผนก่อสร้างใน 2 โมดูล ทางเครือข่ายภาคประชาชนเกาหลีใต้ได้ลงพื้นที่สำรวจเมื่อวันที่ 24-25 มิ.ย.ที่ผ่านมา ในพื้นที่ จ.พิษณุโลก และนครสวรรค์ ไม่มีการทำกรอบแนวคิดในการศึกษาว่า เพราะเหตุใดจึงจำเป็นต้องก่อสร้าง ขณะที่หลายๆ โครงการมีการแอบลงพื้นที่สำรวจเพื่อก่อสร้างเส้นทางฟลัดเวย์ และพัฒนาคูคลองโดยการขุดลอก และไม่แสดงข้อมูลเท็จจริงให้ประชาชนรับรู้ ที่น่ากังวลมากที่สุด คือ รูปแบบการพัฒนาเส้นทางต่างๆ ในงบ 3.5 แสนล้าน นั้นคนยังสงสัยว่าเป็นโครงการขุดลอกคลองชลประทาน หรือเป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งจุดนี้เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องเร่งแก้ไข หรือแม้กระทั่งการขุดลอกบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ ก็เป็นการแสดงออกซึ่งความไร้แผนงานในการพัฒนา
ขณะที่นายกมล เปี่ยมสมบูรณ์ ประธานสภาเครือข่ายลุ่มน้ำท่าจีน กล่าวว่า จากสถานะการเงินที่แย่ลงของเควอเตอร์นั้น สะท้อนให้เห็นชัดว่าไม่เหมาะสมแก่การรับดำเนินโครงการเส้นทางผันน้ำ สร้างฟลัดเวย์ และโครงการขุดลอกคลองบงส่วนในแผนโมดูล A5 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่แม่น้ำสายสำคัญ เช่น แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำเจ้าพระยา และท่าจีน ในภาคตะวันตก และปริมณฑล เพราะแม้แต่โครงการในประเทศยังมีความเสียหายมหาศาลแล้ว หากปล่อยให้ดำเนินย่อมไม่เกิดผลดี
อย่างไรก็ตาม อยากขอให้รัฐบาลเร่งพิจารณาในส่วนของภาคประชาชนมากกว่าว่า ต้องการอะไร รวมทั้งรัฐบาลเองต้องเร่งชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีแผนพัฒนาลุ่มน้ำด้วยว่าดำเนินการเพื่ออะไร เป็นโครงการขุดคลองของชลประทาน หรือเป็นการแก้ปัญหาระบบน้ำอย่างไร เพราะขณะนี้ประชาชนยังกังวลอยู่มาก
นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลใจเย็นในเรื่องของการเดินหน้าโครงการ แล้วหันมาใส่ใจการแก้ปัญหาระบบน้ำที่ชุมชนทั้งต้นน้ำ ปลายน้ำมากกว่าการเร่งอนุมัติงบประมาณ อย่างน้อยก็ไม่ต้องเสี่ยงกับความล้มเหลว ทั้งนี้ตนหวังว่า กรณีสถานการณ์ของเควอเตอร์น่าจะเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้รัฐบาลไตร่ตรองแล้วยอมฟังเสียงประชาชน โดยการประชาพิจารณ์อย่างจริงจัง นอกจากนี้กรณีที่ในแผนพัฒนาลุ่มน้ำภาคเหนือซึ่งรัฐบาลสนับสนุนให้มีการขุดลอก คลอง หนองน้ำและบึงต่างๆ นั้น เห็นว่าเป็นสิ่งไม่สมควร เพราะภาคเหนือเป็นต้นน้ำ ควรเน้นที่การรักษาป่าไม้ มากกว่าการขุดลอก