ผลสำรวจระบุว่า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าโครงการของรัฐที่ดำเนินการมีการคอรัปชั่นในระดับตั้งแต่ปานกลางถึงมากที่สุด โดยผู้ตอบกว่า 66% ระบุว่าการคอรัปชั่นส่งผลเสียต่อตัวเอง ชุมชน และประเทศชาติอย่างมาก โดยการคอรัปชั่นในโครงการต่างๆ ของรัฐนั้นส่วนใหญ่เป็นการคอรัปชันด้วยการกำหนดสเปกต์งาน, กำหนดคุณสมบัติบริษัทไม่เป็นธรรม, มีการฮั้วประมูล และมีเฉพาะข้าราชการเป็นกรรมการจัดจ้าง
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เมื่อแยกแต่ละโครงการ ประชาชนกังวลว่าในแต่ละขั้นตอนดำเนินการจะก่อให้เกิดการคอรัปชั่นในสัดส่วนที่สูง โดยในส่วนของโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทนั้นเชื่อว่าจะเกิดการคอรัปชั่นตั้งแต่การออกนโยบาย มีการล็อกสเป็กผู้เข้าร่วมประมูล และในขั้นตอนคณะกรรมการจัดจ้าง
ขณะที่โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้านบาทนั้น ส่วนใหญ่เห็นว่าน่าจะเกิดการคอรัปชั่นตั้งแต่กำหนดนโยบาย ตามด้วยการคอรัปชั่นในขั้นตอนล็อกสเป็กผู้ประมูล และขั้นตอนคณะกรรมการจัดจ้าง
ส่วนเมื่อถามว่า โครงการต่างๆ ของรัฐบาลจะมีการคอรัปชั่นกี่เปอร์เซ็นต์ของวงเงินงบประมาณ ผู้ตอบส่วนใหญ่เชื่อว่าจะมีการคอรัปชั่นในสัดส่วน 11-25% ของวงเงินงบประมาณ
“หอการค้าไทยได้ประเมินก่อนหน้านี้ว่า การคอรัปชั่นในโครงการต่างๆ มีประมาณ 10% ของงบประมาณโครงการ หรือปีละ 2 แสนล้านบาท คิดเป็น 2% ของจีดีพี ซึ่งถ้าคิดแค่โครงการรับจำนำข้าวที่ใช้เงินประมาณ 4 แสนล้านบาทถึง 5 แสนล้านบาทต่อปี โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และลงทุน 2 ล้านล้านบาท เป็นวงเงินรวมๆ กันประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท หากมีการทุจริต 20% จะเสียหาย 5 แสนล้านบาท แต่ถ้าเพิ่มเป็น 25% ก็จะเสียหายสูงถึง 5.5 แสนล้านบาท" นายธนวรรธน์กล่าว