นอกจากนี้ การกู้เงินเพื่อลงทุนโครงการบริหารจัดการน้ำจะไม่เป็นภาระต่อประเทศ เนื่องจากจะมีการชำระเงินที่ตรงตามเวลาที่กำหนดและไม่มีค่าธรรมเนียม
"ผมก็ทำตามหน้าที่ของผม ถ้าไม่เซ็นผมก็ผิด ก็เป็นการทำตามขั้นตอนตามงบที่ได้จัดสรรมา ผมมองว่าเป็นการเซ็นเพื่อเตรียมความพร้อมมากกว่า แต่ก็ดูคำวินิจฉัยของศาลปกครองที่พิจารณามาในบางเรื่องที่จะให้ทำประชาพิจารณ์เราก็จะทำตามที่ศาลสั่ง ส่วนการกู้เงินยืนยันว่าไม่เป็นภาระ เนื่องจากการขำระเงินจะตรงตามงวดและไม่มีค่าธรรมเนียม การเบิกเงินมาลงทุนก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอน ไม่เป็นภาระของประเทศแน่นอน"นายกิตติรัตน์ กล่าว
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นได้มีการกู้เงินไปแล้วประมาณกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อให้สามารถลงทุนโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้ตามแผนที่วางไว้ในการพัฒนาโครงการที่มีความจำเป็นได้ทันที รวมทั้งจัดวงเงินงบประมาณให้พร้อมและเพียงพอในการดำเนินการให้เกิดการลงทุนในอนาคต ส่วนโครงการมีความจำเป็นที่ผ่านการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) และการทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ(HIA)ที่เปิดให้บริษัทเอกชนดำเนินงานศาลได้สั่งให้ดำเนินการขั้นตอนเพิ่มเติม
นายกิตติรัตน์ ย้ำว่า การจัดเตรียมวงเงินงบประมาณตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 350,000 ล้านบาท ด้วยการลงนามในสัญญาเงินกู้กับ สถาบันการเงิน 4 แห่งไม่ใช่เรื่องที่เป็นภาระให้กับรัฐบาล เนื่องจากไม่ได้มีการกู้เงินทั้งก้อนมากองไว้ให้เสียอัตราดอกเบี้ยโดยเปล่าประโยชน์ หากมีความล่าช้าในการเบิกจ่ายเงินจะไม่มีภาระต้นทุนต่อภาครัฐ โดยทั้งนี้จะสามารถเบิกจ่ายเงินได้เมื่อมีการอ้างอิงขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ ตามคำสั่งศาลปกครองกลางครบถ้วนแล้ว