ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเทียบกับการสำรวจ 2 ครั้งในช่วงต้นปีที่ผ่านมา จะพบว่า ด้านภาพรวมการทำงาน ด้านการเมืองและประชาธิปไตย และด้านเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดี เป็นด้านที่ได้คะแนนลดลง ทั้งนี้จากสถานการณ์การเมืองที่ร้อนแรงและปัญหาเศรษฐกิจที่รัฐบาลยังแก้ไม่ตก ส่วนด้านสังคม อาชญากรรมและยาเสพติด และด้านสิ่งแวดล้อมมลภาวะ และภัยธรรมชาติ ได้คะแนนดีกว่าช่วงต้นปี ส่วนด้านการต่างประเทศถือว่าคะแนนคงที่
เมื่อถามความคิดเห็นว่าหากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่คนอีสานจะเลือกพรรคการเมืองใด พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.0 จะเลือกพรรคเพื่อไทย (จากเดิมร้อยละ 54.7) และอีกร้อยละ 31.1 ยังไม่ตัดสินใจจะเลือกพรรคใดในขณะนี้ (เดิมร้อยละ 22.2) ส่วนผู้ที่จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ มีเพียงร้อยละ 8.9 (ครั้งที่แล้ว ร้อยละ 15.7) อีกร้อยละ 9.3 ตอบว่าจะไม่เลือกพรรคใด และร้อยละ 2.7 จะเลือกพรรคอื่นๆ
ในส่วนของการประเมินการทำงานของฝ่ายค้านในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล พบว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานกว่าร้อยละ 63.6 ให้คะแนนว่าไม่ผ่าน (การประเมินครั้งก่อน ไม่ผ่านร้อยละ 62.3) โดยให้เหตุผล เช่น ไม่มีผลงานที่ชัดเจน ไม่ชอบพรรคฝ่ายค้านอยู่แล้ว ค้านมากเกินไปหรือจับผิดรัฐบาลมากเกินไป เป็นต้น ส่วนอีกร้อยละ 29.7 ที่ประเมินให้ผ่าน ให้เหตุผล เช่น เป็นการทำงานตามหน้าที่ฝ่ายค้านในการตรวจสอบรัฐบาลได้ดี และมีข้อมูลที่พร้อมในการนำเสนอ เป็นการตรวจสอบไม่ให้รัฐบาลคอรัปชั่น เป็นต้น
เมื่อสอบถามถึงความเห็นชาวอีสาน ต่อการปรับคณะรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ 5 พบกว่ากลุ่มตัวอย่างชาวอีสาน ร้อยละ 41.2 รู้สึกพอใจ ซึ่งสวนทางกับการบ่นน้อยใจของ สส.อีสาน ที่ได้เก้าอี้รัฐมนตรีเพียง 1 คน รองลงมาร้อยละ 35.0 รู้สึกเฉยๆ / อย่างไรก็ได้ และมีเพียงร้อยละ 23.8 ที่รู้สึกไม่พอใจ
อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาที่คนอีสานเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขมากที่สุด จากผลสำรวจพบว่ามี 2 ด้านหลักๆ ได้แก่ เรื่องปากท้องและเศรษฐกิจ ความยากจน ปัญหาค่าครองชีพสูง และการว่างงาน ร้อยละ 42.5 รองลงมาต้องการให้แก้ไขปัญหาการรับจำนำข้าว และราคาสินค้าเกษตร ร้อยละ 26.7 ส่วนที่เหลือเป็นปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น การศึกษาและสาธารณสุข สาธารณูปโภคพื้นฐาน และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคม เป็นต้น
อีสานโพล ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานต่อการทำงานของรัฐบาลใน 6 ด้าน จากกลุ่มตัวอย่าง 1,205 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ ระหว่างวันที่ 30 มิ.ย. 56