นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันนี้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์และแผนงานเชิงรุกของรัฐบาลในการต่อต้านการทุจริตของรัฐบาล ด้วยการกำหนดหลักการเพื่อส่งเสริมผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐเปิดเผยข้อมูลในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทุกขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเป็นรูปธรรม และให้มีการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันต่อผู้เสนอราคาหรือผู้เสนองานทุกราย เพื่อสร้างความโปร่งใสและเที่ยงธรรม โดยเฉพาะการเปิดให้บุคคลจากภาคส่วนต่างๆที่ผ่านการฝึกอบรมและได้รับการรับรองสามารถเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อทำหน้าที่สอดส่อง สังเกตการณ์และเสนอแนะให้การจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปโดยสุจริต ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมาตรา 23 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2556
นอกจากนี้ยังจัดให้มีคณะกรรมการขึ้นหนึ่งชุด เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการเสริมสร้างความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการการคัดเลือก คุณสมบัติ บทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้สังเกตการณ์ จัดทำบัญชีรายชื่อผู้สังเกตการณ์ซึ่งมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนแยกตามรายสาขาวิชาชีพ และประกาศบัญชีรายชื่อดังกล่าวให้สาธารณชนรับทราบ
รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการคัดเลือกโครงการที่เข้าข่ายในการเปิดให้มีผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งจะเป็นโครงการที่เป็นภารกิจหลักของหน่วยงาน โครงการที่มีวงเงินงบประมาณสูงหรือโครงการที่สาธารณชนให้ความสนใจ ระหว่างปี 2556 — 2557 รัฐบาลมีแผนการดำเนินงานที่สำคัญดัง เช่น การจัดตั้งที่ปรึกษาพิเศษคณะกรรมการ ป.ป.ท. (Chief Anti-corruption Officer) โดยแต่งตั้งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง กรม จังหวัด ผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ อธิการบดีสถาบันอุดมศึกษา และผู้อำนวยการองค์การมหาชน เพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นในหน่วยงานของตนเองในทุกรูปแบบ รวมทั้งรักษามาตรฐานความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของหน่วยงาน
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า การสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการจะจัดทำโครงการ 1 กรม 1 ป้องกันโกง (Clean Initiative) ด้วยการขยายผลไปยังหน่วยงานรัฐวิสาหกิจองค์การมหาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อีกด้วยนอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตประจำกระทรวง (ศปท.) การดำเนินการของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น (ปปท.) (Anti-Corruption War Room) และการสร้างความโปรงใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยให้มีผู้สังเกตการณ์จากภายนอก
ขณะเดียวกันการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์และแผนงานเชิงรุกของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ถือว่ามีความก้าวหน้าไปมากพอสมควร จากนโยบาย 4 แผนงานเชิงรุกของรัฐบาลได้แก่ 1.การปลูกจิตสำนึกและสร้างความตระหนักรู้2.การพัฒนาองค์กร 3.การตรวจสอบและเฝ้าระวังเชิงรุก 4.การปราบปรามที่จริงจังและการลงโทษที่เข้มงวดโดยการดำเนินงานต่อจากนี้จะเพิ่มความเข้มข้นและวางขั้นตอนการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล ซึ่งจะดำเนินการตามมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่องและจริงจัง
“รัฐบาลมั่นใจว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่นอกจากที่จะมีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งในแต่ละกระทรวงแล้ว ทุกท่านยังมีความตื่นตัวในการที่จะร่วมแรงร่วมใจกันต่อต้านและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อสร้างมิติใหม่ให้เป็นคณะรัฐมนตรีที่ยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม ทั้งนี้จะทำงานประสานความร่วมมือกับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะหัวหน้าส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนตัวแทนภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนในการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของประเทศไทยดีขึ้นเป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้"นายกรัฐมนตรี กล่าว