"การพูดคุยเป็นเรื่องที่ดีส่วนจะสำเร็จหรือไม่เป็นเรื่องของอนาคต คงจะขอหารือกับทาง สมช. ศอ.บต. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการเรื่องนี้โดยตรง ไม่น่าจะเปลี่ยนกลุ่ม แต่น่าจะเพิ่มกลุ่ม"พล.ต.อ.ประชา กล่าว
ส่วนการทำงานของตนเองตั้งใจจะพุ่งเป้าไปที่ 2 ส่วนหลัก คือ 1.งานด้านการพัฒนา ยึดแนวทางกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อให้เข้าใจและเข้าถึงการพัฒนา และ 2.งานด้านยุทธวิธี โดยจะดูว่ามาตรการใดสามารถดำเนินการให้มีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในการทำงานในพื้นที่
การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงยึดแนวปฏิบัติเหมือนเดิม แต่อาจเพิ่มเติมบางส่วนมากขึ้น เช่น การพัฒนาโดยเฉพาะด้านการศึกษา ควรจะให้พี่น้อง 3 จ.ชายแดนภาคใต้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จะสนับสนุนการศึกษาได้มากขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย และการให้สิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมแก่ประชาชนในพื้นที่
ส่วนเหตุการณ์รายวันขณะนี้ มองว่าเป็นเหตุการณ์ปกติ เหตุความรุนแรงจะลดลงได้ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับผู้ก่อเหตุ ส่วนการระงับยับยั้งนั้น เหตุภาครัฐก็ยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่ก็จำเป็นต้องมีการบูรณาการจากทุกภาคส่วน ไม่อยากให้ด่วนสรุปว่าการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมายังทำไม่ถูกจุด เพราะรัฐบาลพยายามทำงานอย่างเต็มที่อยู่แล้ว
"พร้อมจะลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อตรวจเยี่ยมหน่วยงานในพื้นที่ คือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า, ศอ.บต.ซึ่งคาดว่าจะมีการลงพื้นที่ก่อนเดือนรอมฎอน"พล.ต.อ.ประชา กล่าว
ทั้งนี้ พล.ต.อ.ประชาปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นด้านการเมือง รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงครึ่งปีหลัง หรือแม้แต่กรณีที่“แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จะเปลี่ยนตัวประธานกลุ่มมาเป็นนายจตุพร พรหมพันธุ์ และการเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีความพยายามล้มรัฐบาล โดยกล่าวเพียงว่าเป็นเรื่องปกติของฝ่ายค้าน อยู่ที่รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรเพื่อบริหารประเทศให่ดีที่สุด
ส่วนการชุมนุมของกลุ่มการเมืองต่างๆ นั้น มองว่าสามารถทำได้ตามระบอบประชาธิปไตย แต่ผู้ชุมนุมก็ต้องยึดปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย
พล.ต.อ.ประชา กล่าวตอนท้ายว่า การเข้ามารับหน้าที่รองนายกรัฐมนตรี ดูแลงานด้านความมั่นคงยอมรับว่าเป็นภารกิจที่หนัก ซึ่งเรื่องความหนักใจก็มีอยู่บ้าง แต่ก็จะพยายามทำงานอย่างเต็มที่