Analysis:ปธน.มอร์ซีของอียิปต์เผชิญแรงกดดันจากชาติตะวันตกให้ฟังเสียงผู้ประท้วง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 3, 2013 14:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองท้องถิ่นของอียิปต์เปิดเผยว่า ตำแหน่งประธานาธิบดีของนายโมฮัมเหม็ด มอร์ซี เริ่มสั่นคลอนมากขึ้นทุกที เนื่องจากเขาได้รับแรงกดดันจากชาติตะวันตกให้รับฟังความต้องการของกลุ่มผู้ประท้วง

ณ ขณะนี้ นายมอร์ซีกำลังเผชิญกับกระแสการประท้วงจากทั่วประเทศที่เรียกร้องให้เขาลาออก และจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีให้เร็วขึ้น แม้ว่า กลุ่มผู้สนับสนุนนายมอร์ซีซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมจะมีจำนวนหลายล้านคน แต่ก็ยังเป็นจำนวนที่น้อยกว่ากลุ่มผู้ประท้วง ซึ่งรวมตัวกันอยู่ตามถนนสายหลักและจตุรัสชุมชน และกล่าวว่า จะไม่กลับไปจนกว่านายมอร์ซีจะสละตำแหน่งประธานาธิบดี

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา กองทัพอียิปต์ได้ขีดเส้นตายให้กลุ่มต่างๆแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ให้ได้ มิฉะนั้นกองทัพจะใช้แผนการควบคุมสถานการณ์ความวุ่นวายภายในประเทศในอนาคต

ทั้งนี้ ทำเนียบขาวเปิดเผยว่า นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐได้โทรศัพท์ถึงนายมอร์ซีเมื่อเช้าวันอังคารที่ผ่านมานี้เพื่อแสดงความกังวลถึงเรื่องสถานการณ์ในอียิปต์

นายโอบาม่ากล่าวกับนายมอร์ซีว่า “สหรัฐยึดมั่นในกระบวนการประชาธิปไตยในอียิปต์ และไม่ได้สนับสนุนพรรคการเมืองหรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดแต่อย่างใด

“โอบาม่าได้เน้นย้ำว่า ประชาธิปไตยมีองค์ประกอบที่มากไปกว่าการเลือกตั้ง" นายโอบามากระตุ้นให้นายมอร์ซี “ตอบรับ" เสียงผู้ประท้วงต่อต้านประธานาธิบดีทั่วประเทศและแสดง “ความกังวลลึกๆ" เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดความรุนแรงระหว่างการประท้วง

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นายรูเพิร์ต โควิล โฆษกข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า “เราเรียกร้องให้ประธานาธิบดีอียิปต์ฟังความต้องการและคำขอของประชาชนอียิปต์"

นายโลรองท์ ฟาบิอุส รัฐมนตรีต่างประเทศของฝรั่งเศสได้เตือนให้นายมอร์ซี “ฟัง" ความต้องการของผู้ประท้วงเช่นกัน

นายโซบีห์ เอสเซลลา ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจากศูนย์อัลอาห์รามเพื่อการศึกษาทางการเมืองและกลยุทธ์ (Al-Ahram Center for Political and Strategic Studies) เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า “ดูเหมือนว่าสหรัฐจะยอมแพ้เรื่องนายมอร์ซีและกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (MB) แล้ว"

นายเอสเซลลากล่าวว่า นายมอร์ซีไม่ได้เผชิญแค่ “แรงกดดันจากชาติตะวันตก" เท่านั้น แต่เขายังถูกบีบคั้นจาก “ความไม่พอใจภายในจากคนของเขาเอง" ซึ่งเห็นได้จากการลาออกของรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่คนสำคัญๆหลายคน

นายเอสเซลลายังแสดงความเชื่อว่าคณะบริหารของนายมอร์ซี “ได้สลายตัวไปแล้ว" และตั้งข้อสังเกตว่า แม้นายมอร์ซีจะเสนอให้ลงประชามติเรื่องการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี “แต่มันก็สายเกินไปแล้ว"

“ทางเดียวที่นายมอร์ซีจะพาตัวเองและพรรคพวกให้รอดพ้นจากสถานการณ์นี้ได้คือจัดการเลือกตั้งให้เร็วขึ้น เพื่อให้กลุ่ม MB ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของขั้วการเมือง"

ความกังวลของชาติตะวันตกมีมากขึ้นเมื่อเกิดการปะทะระหว่างกลุ่มผู้ต่อต้านและกลุ่มผู้สนับสนุนนายมูร์ซี โดยมีผู้เสียชีวิต 24 ราย และมีผู้บาดเจ็บมากกว่า 1,200 รายเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ การเผชิญหน้ายังคงดำเนินมาจนถึงวันอังคาร และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 7 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 200 ราย ขณะที่เส้นตายเรื่องการยื่นคำขาดครั้งสุดท้ายของกองทัพใกล้เข้ามาแล้ว

นายอาเหม็ด อัล-ฟาดาลี ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและผู้ประสานงานทั่วไปของอินดีเพนเดนท์ เคอร์เรนท์ (Independent Current ) กล่าวว่า ชาติตะวันตกและสหรัฐมักจะปกปิดการสนับสนุนระบบการปกครองที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนคนของตัวเอง"

“เมื่อการปกปิดนี้ถูกขจัดออกไปด้วยความโกรธของประชาชน สหรัฐและชาติตะวันตกจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากทำตามกระแสมวลชน" นายฟาดาลี ผู้เป็นตัวแทนของพรรคการเมือง 30 พรรคกล่าวกับซินหัว

นายฟาดาลียังเป็นหัวหน้าพรรคเดโมเครติก พีซ (Democratic Peace Party) และมีความเห็นคล้ายนายเอสเซลลาว่า นายมอร์ซีผันมาอยู่ในขั้วการเมืองที่มีอำนาจน้อยลงแล้ว “บางที นายมอร์ซีอาจหลุดจากขั้วการเมืองไปเลยก็ได้"

นายฟาดาลีเสริมว่า แม้ว่านายมอร์ซีปฏิเสธไม่ยอมลาออก แต่เขาก็ถูกขับไล่โดยประชาชนหลายล้านคนที่ออกมาชุมนุมต่อต้านตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน

นายฟาดาลีเน้นว่า “สถานการณ์คงจะอันตรายเกินไปหากปราศจากกองทัพ" และเสริมว่าทางออกที่ดีที่สุดสำหรับนายมอร์ซีคือการลาออกภายในไม่กี่ชั่วโมงที่จะถึงนี้ ก่อนจะถึงเส้นตายของคำเตือนครั้งสุดท้ายของกองทัพ

อย่างไรก็ดี ในการปราศรัยทางโทรทัศน์เมื่อคืนวันอังคาร นายมอร์ซีไม่หลงเหลือทางเลือกเพื่อความชอบธรรมใดๆ อีกและต้องใช้ชีวิตของเขาชดใช้เรื่องดังกล่าว

นายธาร์วัต บาดาวี ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์บอกซินหัวว่า เขาคาดว่านายมอร์ซีจะพยายามปรับความเข้าใจกับผู้ต่อต้าน มิฉะนั้น “แม่น้ำหรือทะเลก็อาจจะนองไปด้วยเลือด"

นายบาดาวียังโทษว่ ความขัดแย้งที่ยืดเยื้ออยู่นี้มาจากการที่สหรัฐและอิสราเอลวางแผนควบคุมภูมิภาคนี้และยังยืนยันว่าความมั่นคงของอิสราเอล “จะไม่มีวันเกิดขึ้นหากเกิดการลุกฮือขึ้นในประเทศอาหรับอย่างอียิปต์"

โดยมาห์มุด โฟลี, เตียน ตงตง สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ