คปก.ชี้ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านลบ.ส่อขัดรธน.-อาจส่งผลต่อการเงินการคลังของปท.

ข่าวการเมือง Wednesday July 3, 2013 14:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นวิธีการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่ง คปก.ได้ศึกษาและรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และได้ทำบันทึกความเห็นพร้อมข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมาแล้ว
"คปก.มีความเห็นว่า การกู้เงินตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอาจเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หมวด 8 ว่าด้วย การเงิน การคลัง และงบประมาณ ในมาตรา 169 บัญญัติไว้ว่า "การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง... ดังนั้นเมื่อการกู้เงินตามร่างพระราชบัญญัติที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศวงเงิน 2 ล้านล้านบาท เป็นการกู้ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกระทรวงการคลังอันเป็นหน่วยงานของรัฐ เงินกู้จึงเป็นเงินแผ่นดิน ซึ่งในการจ่ายเงินแผ่นดินนั้นจะต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ การตราเป็นพระราชบัญญัตินอกเหนือจากวิธีการตามที่กำหนดไว้จึงอาจเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ" นายคณิต กล่าว

นอกจากจะขัดต่อรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเงินการคลังแล้ว การที่รัฐจะตรา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือร่าง พ.ร.บ.ฉบับใดฉบับหนึ่งนั้นจำเป็นต้องพิจารณาในเรื่องการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายก่อนประกาศใช้ว่าเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเกินกว่าความจำเป็นหรือไม่ เพื่อควบคุมองค์กรนิติบัญญัติไม่ให้ตรากฎหมายจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจนเกินสมควร โดยกฎหมายที่ตราขึ้นนั้นต้องสอดคล้องกับหลักความพอสมควรแก่เหตุ อีกทั้งยังต้องพิจารณาถึงหลักสิทธิชุมชนและสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย

โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ฝ่ายนิติบัญญัติจะไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของฝ่ายบริหารเป็นเวลา 7 ปี การกู้เงินดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันรัฐบาลชุดต่อไปด้วย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการก้าวล่วงอำนาจของฝ่ายบริหารด้วยกัน ทำให้รัฐบาลชุดต่อไปไม่มีอิสระในการปฏิเสธโครงการเหล่านี้หรือเสนอโครงการพัฒนาใหม่ๆได้อีก เนื่องจากโครงการทั้งหมดถูกกำหนดไว้แล้วจากรัฐบาลชุดก่อนหน้า

นอกจากนี้ โครงการจำนวนมากตามแผนยุทธศาสตร์แนบท้าย พ.ร.บ.ดังกล่าวยังไม่ผ่านการศึกษาความคุ้มค่าทางการเงิน/เศรษฐกิจ และหากโครงการดำเนินการไม่ได้หรือล่าช้า ไม่เกิดความต่อเนื่องตามระยะเวลาที่วางไว้ หรือการเร่งรีบสรุปผลการศึกษาเพื่อให้ดำเนินการได้ทันใน 7 ปี จะทำให้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน หรือ การจัดประเภทการลงทุนที่ไม่เหมาะสม เช่น กรณีรถไฟความเร็วสูง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายมีฐานะปานกลางถึงสูง ถือเป็นการวางแผนการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า เสี่ยงต่อปัญหาทางการเงินของประเทศในอนาคต และเป็นภาระหนี้สินสะสมของภาครัฐ

"คปก.มีข้อเสนอแนะว่า การที่รัฐจะกู้เงินจำนวนมาก โดยเป็นการกู้ในนามประเทศไทยซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและดุลยภาพทางการเงินการคลังของประเทศ รัฐสามารถดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติรองรับไว้ โดยรัฐบาลสามารถดำเนินการในรูปแบบงบประมาณประจำปี และสามารถใช้วิธีการแสวงหาเงินทุนในรูปแบบที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นทางเลือกได้ เช่น การให้เอกชนร่วมลงทุน โดยไม่จำต้องตราเป็นพระราชบัญญัติที่นอกเหนือจากวิธีการทางงบประมาณ ซึ่งเป็นวิธีการที่เป็นไปตามวินัยทางการเงินการคลังของประเทศ และควรมีการศึกษาในแต่ละโครงการอย่างรอบด้านเสียก่อนและดำเนินการโครงการเฉพาะเท่าที่จำเป็น ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาดุลยภาพทางเศรษฐกิจและลดจำนวนเงินกู้ที่จะต้องเกิดขึ้น" นายคณิต กล่าว

ทั้งนี้การกำหนดโครงการและมาตรการต่างๆ ควรมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และควรให้ข้อมูลการดำเนินการ ผลกระทบ รวมไปถึงรายละเอียดต่างๆ ของโครงการต่อประชาชนอย่างทั่วถึง รวมไปถึงการจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างเพียงพอและรอบด้าน เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ