In Focusเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ผู้เปิดโปงความลับของสหรัฐที่สั่นคลอนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 3, 2013 16:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกานับเป็นสัญลักษณ์ของสิทธิมนุษยชน ตัวอย่างล่าสุดในเรื่องดังกล่าว คือ การยกเลิกกฎหมายห้ามเพศเดียวกันแต่งงานที่แคลิฟอร์เนียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เรื่องที่เกิดขึ้นในเวลาที่ไล่เลี่ยกันนี้กลับทำให้เกิดการตั้งคำถามตามมาว่าสหรัฐยังมั่นคงอยู่ในจุดยืนเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่หรือไม่ ภายหลังจากที่มีผู้ออกมาเปิดโปงถึงโครงการที่เปิดทางให้สหรัฐสามารถดักฟังข้อมูลผ่านทางโทรศัพท์ และอีเมลได้จากทั่วโลก รวมถึงการสอดแนมองค์กรของประเทศต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดกระแสความกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน และความเป็นส่วนตัวไปทั่วโลก ขณะเดียวกัน เรื่องนี้ก็อาจจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและประเทศที่ตกเป็นเหยื่อสอดแนมในครั้งนี้ ต้องสั่นคลอน

ส่วนผู้เปิดโปงความลับในครั้งนี้ หรือที่ต่างประเทศนิยมใช้คำว่า "ผู้เป่านกหวีด" หรือ “whistleblower"นั้น คือนาย “เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน" อดีตพนักงานหน่วยข่าวกรองกลางสหรัฐ (CIA) และอดีตพนักงานสัญญาจ้างของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ (NSA) วัย 30 ปี ภายหลังการออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อการเปิดโปงในครั้งนี้ ก็มีนานาทัศนะเกี่ยวกับสโนว์เดน บ้างก็มองว่าเขาเป็นวีรบุรุษที่ทำให้ชาวสหรัฐได้รับรู้การทำงานอีกด้านหนึ่งของรัฐบาลสหรัฐ บ้างก็มองว่าเขาเป็นคนขายชาติที่นำความลับของบ้านเกิดเมืองนอนมาเปิดโปงให้ประเทศอื่นๆได้ล่วงรู้

* ทำความรู้จักการเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน

สโนว์เดนเติบโตในเมืองวิลมิงตัน รัฐนอร์ธ แคโรไลน่า ต่อมาในปี 2542 เขาและครอบครัวย้ายไปอยู่เมืองเอลลิคอต ซิตี้ รัฐแมรีแลนด์ มีข้อมูลว่าเขาศึกษาระดับมัธยมปลายด้านคอมพิวเตอร์ที่นั่น และศึกษาระดับปริญญาโทของมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล์ผ่านทางออนไลน์ในปี 2553 ด้านชีวิตการทำงาน สโนว์เด็นสมัครเป็นทหารในกองทัพสหรัฐ ในหน่วยสรรหาหน่วยรบพิเศษเมื่อปี 2547 แต่ถูกปลดจากตำแหน่งเนื่องจากบาดเจ็บในระหว่างการฝึกฝน และต่อมาได้ร่วมงานกับ CIA เป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยด้านไอที ใช้ชีวิตอย่างสุขสบายโดยมีรายรับเข้ามาเดือนละไม่ต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์ ต่อมาเขาร่วมงานกับ Booz Allen ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี ซึ่งทำให้เขาได้เป็นพนักงานเอาท์ซอร์สของ NSA โดยทำงานที่ฮาวายเป็นนักวิเคราะห์ระบบพื้นฐาน เงินเดือนที่ได้คือ 122,000 ดอลลาร์ เขาบอกว่า เขารับรายได้ที่ลดลงจากการทำงานที่นี่ เขาต้องการงานที่เขาสามารถรวบรวมข้อมูลการสอดแนมทั่วโลกของ NSA เพื่อที่เขาจะได้นำมาเปิดโปง สโนว์เดนเดินทางออกจากฮาวายตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. โดยมีจุดหมายปลายทางที่ฮ่องกง ส่วนสัญญาการทำงานของสโนว์เดนกับ Booz Allen สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยบริษัทให้เหตุผลว่าเขาละเมิดจรรยาบรรณและนโยบายของบริษัท ซึ่งขณะนั้นสโนว์เดนอยู่ในฮ่องกงแล้ว และเริ่มมีรายงานโครงการลับผ่านหนังสือพิมพ์ The Guardian

* ตามรอยแผนการเปิดโปงสะท้านโลก

เกลนด์ กรีนวอลด์ ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ The Guardian ของอังกฤษเปิดเผยว่า เขาเริ่มงานกับสโนว์เดนตั้งแต่เดือนก.พ.ที่ผ่านมา ขณะที่บาร์ตัน เกลล์แมนจาก The Washington Post ระบุว่าเขาได้รับการติดต่อโดยตรงกับจากเขาเมื่อวันที่ 16 พ.ค. โดยการติดต่อส่วนหนึ่งสโนว์เดนใช้อีเมลที่เข้ารหัส และขอให้ผู้สื่อข่าวไม่อ้างอิงคำพูดของเขาเป็นประโยคยาวๆ เนื่องจากเกรงว่าจะมีการเจาะจงตัวบุคคลด้วยการระบบวิเคราะห์ระดับความหมาย

การเปิดโปงยกแรกเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ผ่านการรายงานของ The Guardian ซึ่งระบุว่า NSA รวบรวมข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของผู้ใช้เครือข่าย Verizon หลายล้านรายการทั้งภายในและระหว่างประเทศ ผ่านคำสั่งของศาลซึ่งจัดตั้งภายใต้รัฐบัญญัติสอดส่องข่าวกรองแห่งชาติ (FISA) และยังมีการเปิดโปงโครงการ PRISM ซึ่งเปิดตัวย้อนไปตั้งแต่ปี 2550 โดยพบสไลด์ที่ใช้อบรมเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ระบุว่า โครงการ PRISM ทำให้ NSA สามารถเข้าถึงข้อมูล อาทิ อีเมล แชตทั้งภาพและเสียง ข้อมูลที่ถูกเก็บไว้ ผ่านความร่วมมือ ของ 9 บริษัทไอทีรายใหญ่ของสหรัฐ ซึ่งในจำนวนนั้นมี ไมโครซอฟท์ แอปเปิ้ล กูเกิ้ล และ ยาฮูเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย (ต่อมาผู้บริหารของบริษัทเหล่านี้ต่างออกมาปฏิเสธการมีส่วนเกี่ยวข้องดังกล่าว เช่น มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก ซีอีโอเฟสบุ๊ก และลาร์รี เพจ ซีอีโอกูเกิ้ล) โดยการเปิดโปงครั้งนี้ ยังไม่เปิดเผยว่าเบื้องหลังข้อมูลคือใครจนกระทั่งวันที่ 10 มิ.ย. The Guardian จึงได้มีการเปิดเผยบทสัมภาษณ์ของสโนว์เดน ที่ระบุไว้ว่า “ผมไม่มีเจตนาปิดบังตัวตน เพราะผมรู้ว่าผมไมได้ทำอะไรผิด .. ผมไม่กลัว เพราะนี่คือสิ่งที่ผมเลือกแล้ว..ผมไม่อาจปล่อยให้รัฐบาลสหรัฐทำลายความเป็นส่วนตัวและอิสระภาพขั้นพื้นฐานได้"

หลังจากนั้นการเปิดโปงความลับก็ไหลมาเทมาแบบไม่ขาดสาย หนังสือพิมพ์ South China Morning Post ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฮ่องกงฉบับภาษาอังกฤษ รายงานเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ว่า สโนว์เดนระบุว่าสหรัฐพยายามเจาะข้อมูลโดยมีเป้าหมายที่ประเทศจีน อาทิ บริษัทโทรศัพท์มือถือและมหาวิทยาลัย ในขณะนั้นเป็นช่วงที่รัฐบาลสหรัฐกดดันให้ฮ่องกงส่งตัวสโนว์เดน ในความผิดข้อหาจารกรรม

ต่อมาสโนว์เดนตัดสินใจเดินทางไปยังสนามบินกรุงมอสโค และพักอยู่ในพื้นที่รอขึ้นเครื่องของสนามบิน ต่อมาประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียออกมายืนยันว่า สโนว์เดนอยู่ในมอสโคจริง แต่ไม่สามารถจับในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนไปยังสหรัฐได้ เนื่องจากเขาอยู่ในพื้นที่รอเครื่อง ซึ่งยังไม่ถือว่าเป็นเขตแดนของรัสเซีย อีกทั้งสโนว์เดนไม่ได้ก่อคดีในรัสเซีย จึงเป็นเหตุให้สโนว์เดนสามารถอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวได้จนถึงปัจจุบัน

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ยังมีรายงานอีกชิ้นหนึ่งของนิตยสาร Der Spiegel ของเยอรมนี ซึ่งน่าจะได้รับข้อมูลจากสโนว์เดน ระบุว่า NSA สอดแนมความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรป (อียู) โดยสามารถสืบภารกิจทางการทูตอียูของอียูในกรุงวอชิงตัน ด้วยการการติดตั้งเครื่องดักฟังในอาคารของอียู และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ภายในถูกเจาะเข้าระบบ ซึ่งทำให้ NSA สามารถเข้าถึงข้อมูลการประชุม อีเมล และเอกสารภายในของอียู นอกจากนี้ Der Spiegel ยังระบุว่า NSA ดักฟังและสอดแนมอาคาร Justus Lipsius สำนักงานใหญ่ของคณะมนตรีแห่งอียูเป็นประจำ

*ร่อนคำขอลี้ภัย ทางรอดสุดท้ายของสโนว์เดน

ในระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่บริเวณพื้นที่รอขึ้นเครื่องในสนามบินมอสโค ก็มีรายงานถึงความพยายามของสโนว์เดนที่จะขอลี้ภัยไปในประเทศต่างๆไม่ต่ำกว่า 20 ประเทศ โดยการยื่นคำร้องขอลี้ภัยไปยังประเทศเอกวาดอร์อาจมีความหวังมากที่สุด ริการ์โด ปาติโน รมว.ต่างประเทศเอกวาดอร์ระบุว่า เราจะช่วยสโนว์เดน เพราะถือว่าการป้องปกสิทธิมนุษยชนเหนือสิ่งอื่นใด ขณะที่ประธานาธิบดีราฟาเอล คอเรียของเอกวาดอร์ กล่าวว่า กำลังเร่งพิจารณาเอกสารข้อลี้ภัยการเมืองของสโนว์เดน

อย่างไรก็ตาม ประเทศส่วนใหญ่ที่สโนว์เดนส่งคำขอลี้ภัยไปถึงนั้น ต่างปฏิเสธคำขอดังกล่าว โดยแหล่งข่าวอียูระบุว่า คาดว่าจะไม่มีประเทศสมาชิกของอียูยอมรับคำของลี้ภัยของนายสโนว์เดน โดยประเทศสมาชิกอียูที่สโนว์เดนยืนคำขอลี้ภัยมี 9 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอร์แลนด์ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ และสเปน ส่วนประเทศยุโรปนอกกลุ่มอียูที่สโนว์เดนขอลี้ภัย มีนอร์เวย์ และไอซ์แลนด์ ซึ่งเมื่อวานนี้ รัฐบาลนอร์เวย์เพิ่งปฏิเสธคำขอลี้ภัยโดยระบุว่าไม่เป็นไปตามข้อกฎหมายของนอร์เวย์ ขณะที่ประเทศอื่นๆ อาทิ อินเดีย บราซิลต่างปฏิเสธคำขอลี้ภัยของนายสโนว์เดนเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า นายสโนว์เดนถอนคำขอลี้ภัยในรัสเซียแล้ว ภายหลังประธานาธิบดีปูตินระบุว่า สโนว์เดนสามารถข้อลี้ภัยในรัสเซียได้ แต่ต้องหยุดเปิดโปงความลับของสหรัฐ

*ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสั่นคลอนข้ามโลก

ผลจากการเปิดโปงความลับรัฐบาลสหรัฐในครั้งนี้ นอกจากจะทำให้ชาวโลกได้รู้อีกมุมของการทำงานของรัฐบาลสหรัฐ ยังอาจส่งผลกระทบอย่างหนักต่อความสัมพันธ์ของสหรัฐกับประเทศต่างๆ จากที่มีรายงานการสอดแนมของ NSA ในต่างประเทศ

นาย สเตเฟน ไซเบิร์ต โฆษกรัฐบาลเยอรมนีเปิดเผยว่า “ถ้าการรายงานการสอดแนมชาติยุโรปโดยหน่วยข่าวกรองของสหรัฐได้รับการยืนยัน เรื่องนี้จะต้องมีผลลัพธ์ตามมา การดักฟังเพื่อนเป็นเรื่องไม่สามารถยอมรับได้ และเราไม่ได้อยู่ในสงครามเย็นอีกต่อไป"

ขณะที่นายโรลอง ฟาบิอูส รมว.ต่างประเทศฝรั่งเศสได้เรียกร้องให้สหรัฐอธิบายข้อกล่าวหาที่ว่าสอดแนมสำนักงานของอียูในกรุงวอชิงตัน บรัสเซลส์ และสหประชาชาติ โดยระบุว่า “ถ้าข้อกล่าวหาดังกล่าวได้รับการยืนยัน ก็จะเป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้โดยสิ้นเชิง"

ส่วนนายมาร์ติน ชูลส์ ประธานรัฐสภายุโรปได้เรียกร้องให้สหรัฐเปิดเผยความชัดเจนอย่างเต็มที่เกี่ยวกับรายงานที่ว่าสำนักงานของอียูในสหรัฐถูกติดตั้งเครื่องดักฟัง โดยเขาระบุว่า หากเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง จะเกิดผลพวงที่ร้ายแรงต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและอียู

แม้ยังไม่มีความชัดเจนว่า ชะตากรรมของสโนว์เดนในอนาคตจะออกมาในรูปแบบใด และความสัมพันธ์ของสหรัฐกับประเทศต่างๆจะลงเอยเช่นไร แต่การเปิดโปงครั้งนี้ก็ทำให้หลายคนต้องกลับมาตั้งคำถามใหม่ว่า สุดท้ายแล้วข้อมูลส่วนตัวของเรา"กลายเป็นของส่วนรวม"ของใครหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ