“เป็นความพยายามที่จะบิดเบือนความจริงและความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะเป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ แต่เมื่อนำมาใช้แล้วสร้างความเสียหายอย่างรุนแรง ฝ่ายการเมืองจึงพยายามปกปิด บิดเบือนและกลบเกลื่อนตัวเลขมาโดยตลอด การแสดงออกของนายกฯ ไม่เหมาะสม หากคิดว่าสิ่งที่นางสาวสุภากล่าวไม่มีรายละเอียดเพียงพอ ทำไมไม่เชิญนางสาวสุภามาหารือ แต่กลับให้ไปหาหลักฐานมามอบให้ และใช้วิธีข่มขู่"นายชวนนท์ กล่าว
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเชิญน.ส.สุภาไปให้ข้อมูล พร้อมด้วยนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรมช.เกษตรฯ นายรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ และเชิญตัวแทนจากภาคประชาชน นายกสมาคมโรงสี ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการจำนำข้าวและผู้แทนจากฝ่ายค้าน
"นายกฯ ต้องกล้าเปิดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ประเทศมีทางออกและชาวนาได้เงิน 15,000 บาทต่อตันตามที่รัฐบาลเคยหาเสียงไว้ โดยที่ชาติไม่เสียหาย แต่ถ้านายกฯ ไม่กล้าก็แสดงว่าต้องการได้ข้อมูลด้านเดียวจากฝ่ายตัวเองว่าไม่มีปัญหา ทั้งที่เป็นภาระการคลังมหาศาลและมีการทุจริตรุนแรง"นายชวนนท์ กล่าว
นายชวนนท์ กล่าวอีกว่า กฎหมายเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.)ชี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญหลายมาตรา ซึ่งส่อว่าจะซ้ำรอยกับเงินกู้ 3.5 แสนล้าน เพราะมีการระบุถึงมาตรา 57 และ 67 เหมือนกัน แปลกใจว่ารัฐบาลที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยกลับไม่รับฟังความเห็นประชาชน ตัดโอกาสและสิทธิของประชาชน สุดท้ายก็ทำงานไม่ได้ เพราะติดขัดในเรื่องรัฐธรรมนูญ
"ไม่อยากให้เงินกู้ 2 ล้านล้านจะมีจุดจบเหมือนเงินกู้ 3.5 แสนล้าน จนประเทศเสียโอกาส จึงขอให้นายกและครม.ปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่ เพื่อให้ประชาชนสบายใจและการทำงานของรัฐบาลมีประสิทธิภาพไม่ใช่แค่อ่านโพยที่คนอื่นเขียนให้ว่าจะแก้ปัญหาทุจริตเท่านั้น"นายชวนนท์ กล่าว
ส่วนกรณีที่นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ฝ่ายค้านสามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้เมื่อกฎหมายผ่านสภาหากเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญนั้น นายชวนนท์ กล่าวว่า ถ้าสุดท้ายรัฐบาลไม่ฟังฝ่ายตรวจสอบก็ต้องดำเนินการยื่นศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน