ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้รัฐบาลมีภาระผู้พันและเกิดความเสียหายต่อภาระหนี้สินของประเทศ อันอาจก่อนิติสัมพันธ์ในทางปกครองกับกลุ่มบริษัททั้ง 4 บริษัทหรือกิจการร่วมค้าที่เป็นผู้ชนะเลิศในการเปิดประมูลประกวดซองราคาดังกล่าวทั้งในและต่างประเทศ และเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียได้มีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติราชการทางปกครองเกี่ยวกับการกำหนดหรือปรับปรุงแก้ไขแผนแม่บทสำหรับการบริหารจัดการน้ำได้อย่างเต็มที่ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
"ขอกราบเรียนมายัง ฯพณฯนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้โปรดสั่งยกเลิกหรือเพิกถอนการประมูลหรือประกวดราคาโครงการระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยทั้ง 9 โมดูลดังกล่าวเสีย ณ บัดนี้" จดหมายเปิดผนึก ระบุ
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเมื่อรัฐบาลได้ดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาในหมวดที่ 10 และหมวดที่ 12 โดยเฉพาะมาตรา 57 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสองครบถ้วนแล้ว กลุ่มบริษัททั้ง 4 บริษัทหรือกิจการร่วมค้าดังกล่าว และหรือกลุ่มบริษัทอื่น ๆ ที่สนใจ ก็สามารถที่จะเข้ามาเสนองานประกวดราคาได้อีก ตามเงื่อนไขใหม่ที่รัฐบาลกำหนด หากไม่ดำเนินการรัฐบาลและหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ในทางมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบความผิดเกี่ยวกับ พรบ.การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ(กฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการฮั้ว) พ.ศ. 2542 โดยทันที และอาจถูกบริษัทต่าง ๆ ที่เคยเป็นผู้ร่วมเสนอกรอบแนวคิด (Conceptual Plan)กว่า 300 บริษัทฟ้องร้องเอาได้ และหรือสมาคมฯจะยื่นศาลปกครองฟ้องร้องเพิกถอนโดยทันที่ที่ฝ่าฝืน ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลในอนาคต ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2556 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้ นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการ กยน. คณะกรรมการ กนอช. และคณะกรรมการ กบอ. หรือผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ปฏิบัติหน้าที่ตามที่มาตรา 57 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้ต้องปฏิบัติ ด้วยการนำแผนแม่บทสำหรับการบริหารจัดการน้ำไปดำเนินการจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง ซึ่งเชื่อว่าเมื่อรัฐบาลนำแผนแม่บทสำหรับการบริหารจัดการน้ำไปดำเนินการจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงแล้ว แผนงานโครงการต่าง ๆที่ ได้กำหนดไว้แต่เดิมหรือตามทีโออาร์ (TOR) นั้น จะต้องเปลี่ยนแปลงไป โครงการฯอาจมากขึ้นหรือถูกปรับลดให้น้อยลงกว่าเดิมก็เป็นได้
ดังนั้น การที่รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบกลุ่มบริษัททั้ง 4 บริษัทหรือกิจการร่วมค้าที่เป็นผู้ชนะเลิศในการเปิดประมูลประกวดซองราคากันเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2556 แล้วนั้น ถือได้ว่าเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 ในหมวดที่ 10 และหมวดที่ 12 โดยชัดแจ้ง ตามที่ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาดังกล่าวแล้ว