โพลล์เผย ปชช.64%พอใจภาพรวม"ครม.ปู5"-หลายนโยบายยังครองใจ

ข่าวการเมือง Sunday July 7, 2013 11:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องประเมินผลงานรัฐบาลในช่วง 2 ปีและการยอมรับของสาธารณชนต่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หลังปรับ ครม. สอบถามถึงระดับการยอมรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หลังการปรับคณะรัฐมนตรีโดยภาพรวม พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.0 ยอมรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่โดยภาพรวม

ขณะที่ร้อยละ 36.0 ไม่ยอมรับ และเมื่อจำแนกตามลักษณะทั่วไปของตัวอย่างพบว่า ทุกกลุ่มเพศ ทุกกลุ่มช่วงอายุ ระดับการศึกษา อาชีพและรายได้ส่วนใหญ่ต่างก็ให้การยอมรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่โดยภาพรวม โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยไม่เกิน 5,000 บาทต่อเดือน และกลุ่มรายได้ระหว่าง 10,001 - 15,000 บาทต่อเดือนมีสัดส่วนของผู้ให้การยอมรับสูงถึงกว่าร้อยละ 70

นอกจากนี้ เกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 53.3 คิดว่าการแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของประชาชนยังคงเหมือนเดิมหลังปรับคณะรัฐมนตรี ในขณะที่ร้อยละ 29.0 ระบุความหวังว่าจะดีขึ้น และร้อยละ 17.7 คิดว่าจะแย่ลง

นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจทั้งสิ้น 2,132 ตัวอย่าง เมื่อประเมินผลงานรัฐบาล โดยเปรียบเทียบความคาดหวังและการเห็นจริงของสาธารณชนต่อนโยบายของรัฐบาลเมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน ในกลุ่มเป้าหมายกลุ่มต่างๆ ของรัฐบาล พบว่า โครงการของรัฐบาลที่ได้รับความคาดหวังสูงและการเห็นจริงสูงมากที่สุด ได้แก่ การปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพรายเดือนแบบขั้นบันไดสำหรับผู้สูงอายุ กลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปคาดหวัง 6.77 และเห็นจริง 6.52 คะแนน ผลการประเมินคือ นโยบายรัฐบาลนี้ดีอยู่แล้ว รักษาโครงการนี้ไว้สำหรับกลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

รองลงมาคือ ผลวิเคราะห์ความคาดหวังและการเห็นจริงของบัณฑิตจบใหม่ต่อโครงการตามนโยบายรัฐบาลว่าด้วยเงินเดือนผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี 15,000 บาท พบว่า คาดหวัง 6.59 และเห็นจริง 5.46 คะแนน ผลการประเมินคือ เป็นนโยบายที่ดีอยู่แล้ว รักษาโครงการนี้ไว้ สำหรับกลุ่มบัณฑิตจบใหม่

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามกลุ่มเกษตรกรในฐานะกลุ่มเป้าหมายของโครงการตามนโยบายรัฐบาลต่อโครงการรับจำนำข้าวเปลือก พบว่า คาดหวัง 6.53 และเห็นจริง 5.24 ผลการประเมินคือ เป็นนโยบายที่ดีอยู่แล้ว รักษาโครงการนี้ไว้ และในกลุ่มเกษตรกรเช่นกันในฐานะกลุ่มเป้าหมายของนโยบายแก้ไขปัญหาพักหนี้ครัวเรือนของเกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อย พบว่า คาดหวัง 6.53 และเห็นจริง 5.83 ผลการประเมินคือ เป็นนโยบายที่ดีควรรักษาโครงการนี้ไว้สำหรับกลุ่มเกษตรกร

นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้ใช้แรงงานในฐานะกลุ่มเป้าหมายของโครงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท พบว่า คาดหวัง 6.19 และเห็นจริง 5.59 ผลการประเมินคือ เป็นนโยบายที่ดีควรรักษาโครงการนี้ไว้สำหรับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มสตรีในฐานะกลุ่มเป้าหมายของโครงการการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พบว่า คาดหวัง 5.76 แต่เห็นจริงเพียง 4.72 ผลการประเมินคือ นโยบายนี้ของรัฐบาลควรต้องปรับปรุง เพราะกลุ่มเป้าหมายคาดหวังสูงแต่เห็นจริงต่ำในกลุ่มสตรี

ยิ่งไปกว่านั้น ในกลุ่มประชาชนฐานะปานกลางขึ้นไปในฐานะกลุ่มเป้าหมายของโครงการบ้านหลังแรก พบว่า คาดหวัง 5.60 แต่เห็นจริง 4.89 ผลการประเมินคือ นโยบายนี้ของรัฐบาลควรต้องปรับปรุง เพราะกลุ่มเป้าหมายคาดหวังสูงแต่เห็นจริงต่ำในกลุ่มประชาชนฐานะปานกลางขึ้นไป

นอกจากนี้ ในกลุ่มประชาชนทั่วไปในฐานะกลุ่มเป้าหมายของโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ พบว่า คาดหวัง 5.49 แต่เห็นจริงเพียง 4.03 ผลการประเมินคือ รัฐบาลควรต้องปรับปรุงโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลเพราะกลุ่มเป้าหมายคาดหวังสูงแต่เห็นจริงต่ำในกลุ่มประชาชนทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มเกษตรกรในฐานะกลุ่มเป้าหมายของโครงการบัตรเครดิตเกษตรกร พบว่า คาดหวัง 5.47 และเห็นจริง 5.15 ผลการประเมินคือ นโยบายนี้ของรัฐบาลดีอยู่แล้วควรรักษาโครงการนี้ไว้

ที่น่าพิจารณาคือ ในโครงการที่รัฐบาลต้องปรับปรุงเพราะกลุ่มเป้าหมายคาดหวังสูงแต่เห็นจริงต่ำ ได้แก่ โครงการเพิ่มเงินทุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอีกแห่งละ 1 ล้านบาท โครงการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บแล็ตให้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1

ส่วนโครงการของรัฐบาลที่ผลการประเมินออกมาว่า ต้องปรับลดขนาดโครงการลงเพราะกลุ่มเป้าหมายประชาชนฐานะปานกลางขึ้นไปคาดหวังต่ำกว่าเห็นจริงคือ 5.23 ต่อ 5.37 คะแนน เพราะโครงการนี้ได้ทำเกินกว่าความคาดหวังของกลุ่มเป้าหมายก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อกลุ่มเป้าหมายมากกว่า

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สำรวจความคิดเห็นประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ระหว่างวันที่ 1-6 กรกฎาคม 2556


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ