น.ส.รสนา กล่าวว่า จากการตรวจสอบของ กมธ.ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาได้พบความชัดเจนว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวไม่ได้มีการประกาศราคากลางตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 130/7 และการที่กระทรวงการคลังทำสัญญาเงินกู้เงินกับสถาบันการเงิน ภายหลังศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ระงับโครงการเอาไว้ก่อนจนกว่าจะมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 อาจจะขัดกับ พ.ร.ก.ดังกล่าวด้วย
ขณะเดียวกันการเบิกจ่ายเงินตาม พ.ร.ก.ก่อนหน้านี้ยังพบว่ามีประมาณ 2 หมื่นล้านบาท แต่เป็นการนำใช้ไปกับการศึกษาวิจัยพันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งคณะ กมธ.เห็นว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการก่อสร้างของโครงการบริหารจัดการน้ำ
"ด้วยปัญหาทั้งหมด คณะกรรมาธิการฯ จึงมีความเห็นร่วมกันว่าจะทำจดหมายไปถึงผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อฟ้องต่อศาลปกครองให้ยกเลิกโครงการดังกล่าวทั้งหมดเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น หากผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการล่าช้าทางคณะกรรมาธิการฯ จะส่งเรื่องโดยตรงไปยังศาลปกครอง" น.ส.รสนา กล่าว
ด้านนายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา หนึ่งในคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า กมธ.มีความห่วงใยว่าโครงการนี้อาจล้มเหลวเหมือนกับหลายโครงการในอดีต เนื่องจาก พ.ร.ก.ฉบับนี้กำหนดให้การดำเนินโครงการต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี แต่เมื่อพิจารณาในทางปฎิบัติประกอบคำพิพากษาของศาลปกครองแล้วจะเห็นได้ว่าไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะศาลปกครองได้มีคำสั่งให้การดำเนินกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต้องทำอย่างทั่วถึงตามรัฐธรรมนูญ
ขณะที่รัฐบาลโดยนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) มั่นใจว่าจะดำเนินการเสร็จภายใน 2 เดือน ซึ่งไม่ได้เป็นหลักประกันว่ารัฐบาลจะสามารถจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นได้อย่างทั่วถึงตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง