"ปลอดประสพ" เล็งเชิญ NGO ร่วมรับฟังความคิดเห็นโครงการน้ำใน 39 จ. คาดใช้เวลา 3 เดือน

ข่าวการเมือง Friday July 12, 2013 14:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) กล่าวว่า ได้รายงานความคืบหน้าของโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ต่อคณะกรรมการกลั่นกรองให้ความเห็นเกี่ยวกับคำพิพากษาศาลปกครองกลางกรณีโครงการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่จะเริ่มได้ช่วงกลางเดือน ส.ค.นี้ และคาดว่าใช้เวลารวม 3 เดือน

การรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้จะเป็นการทำแบบทั่วถึง เสริมกับก่อนหน้านี้ที่ทำไว้อย่างกว้างขวาง ซึ่งถือเป็นความบังเอิญและตั้งใจ เมื่อทำแบบนี้ก็จะสอดคล้องกับคำพิพากษาของศาลที่อยากให้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 57(2)

"ผมได้ออกคำสั่งตั้งคณะอนุกรรมการของ กบอ.ในส่วนของงานประชาสัมพันธ์และการรับฟังความคิดเห็นไปตั้งแต่เมื่อวานนี้(11 ก.ค.) จึงได้นำคำสั่งมาหารือกับนายพงศ์เทพว่าสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ตลอดจนคำพิพากษาของศาลปกครองด้วย ซึ่งนายพงศ์เทพก็เห็นว่าเนื้อหาในคำสั่งครอบคลุมดีแล้ว" นายปลอดประสพ กล่าว

สำหรับการรับฟังความเห็นประชาชนนั้น มติ ครม.มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย และ กบอ.ร่วมเป็นเจ้าภาพ โดยจะแบ่งการทำเป็น 4 ภาค แบ่งเป็น พื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่กลางน้ำ พื้นที่ปลายน้ำ และพื้นที่ 17 ลุ่มน้ำ โดยจะจัดทำทั้งหมด 39 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ คาดว่าจะครอบคลุมประชาชนราว 2 — 3 แสนคน เป็นการทำประชาสัมพันธ์ทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ รวมทั้งจะมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์วิทยุ มีการจัดนิทรรศการ มีการประชุมครั้งใหญ่ และแยกห้องประชุมตามหัวเรื่อง ตั้งแต่กลางเดือน ส.ค.56 โดยประชาชนที่เข้าร่วมจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงทางอ้อม รวมไปถึงเอ็นจีโอและภาคเอกชนที่จะเชิญผ่านสื่อ และมีจดหมายเชิญอย่างเป็นทางการด้วย

"ในความเป็นจริงสิ่งเหล่านี้ต้องทำอยู่แล้วในทีโออาร์ คราวนี้รัฐเอามาทำเอง บริษัทไม่ต้องทำก็ไม่ต้องรับเงินนี้ไป ดังนั้นค่าใช้จ่ายก็เท่าเดิม เพียงแต่ว่ารัฐเอามาทำเอง" นายปลอดประสพ กล่าว

ส่วนกรณีที่มีประแสข่าวว่า คณะกรรมาธิการ(กมธ.) ศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่มี น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุเงทพฯ เป็นประธาน จะร้องขอให้ศาลปกครองล้มโครงการดังกล่าวนั้น นายปลอดประสพ กล่าวว่า สิ่งที่ใดที่ตนเองทำ น.ส.รสนา ไม่เห็นดีด้วย แต่ยืนยันว่า รัฐบาลต้องเดินหน้าโครงการป้องกันน้ำท่วม มิเช่นนั้นจะเกิดความเสียหายแน่

นายปลอดประสพ ยังชี้แจงกรณีที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.ทำหนังสือถึงรัฐบาลระบุว่าโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลไม่มีแผนป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ กทม.รวมอยู่ว่า โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทนี้ ผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือ คน กทม. เพราะไปป้องกันตั้งแต่ต้นน้ำมีการไปปลูกต้นไม้เพื่อชะลอน้ำ มีการสร้างเขื่อนเพิ่มเก็บน้ำได้อีก 4 พันล้านลูบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีการสร้างแก้มลิงตั้งแต่เหนือ จ.นครสวรรค์ เพื่อให้เก็บน้ำได้ 1 หมื่นล้าน ลบ.ม. และยังมีการทำฟลัดเวย์ 2 สายเบี่ยงน้ำออกฉด้านข้างของ กทม.ทำให้น้ำผ่าน กทม.ไม่เกิน3.5 พันล้าน ลบ.ม. ซึ่งน้ำก็จะไม่ท่วม กทม.

ส่วนกรณีที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ระบุว่า รัฐบาลไม่ให้งบประมาณ ทั้งที่สั่งการให้ กทม.วางแผนบริหารจัดการน้ำระยะยั่งยืนนั้น นายปลอดประสพ กล่าวว่า รัฐบาลไม่จำเป็นต้องให้งบประมาณแก่ กทม. เพราะตนเองเป็นผู้ดำเนินการอยู่ แต่เป็นการทำโครงการพื้นที่นอก กทม.ตามที่กล่าวไปแล้ว ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. นอกจากนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ยังระบุอีกว่า กทม.ต้องระบายน้ำให้ได้ 375 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยเป็นฝั่งพระนคร 300 ลบ.ม./วินาที และฝั่งธนบุรี 75 ลบ.ม./วินาที ซึ่งหากรัฐบาลไม่อนุมัติงบประมาณ กทม.จะไม่สามารถทำได้

"คุณชายเคยบอกว่าไม่ยอมให้เปิดประตูน้ำผ่านเข้า กทม. บอกว่าชักศึกเข้าบ้าน แต่ตอนนี้คุณชายกลับมาขอเงินเพื่อให้น้ำผ่านเข้า กทม. รัฐบาลก็อุตส่าห์ไปทำคลองผันน้ำออกไปเพื่อให้น้ำเข้ามาใน กทม. แต่คุณชายมาเชิญให้น้ำเข้า คราวที่แล้วผมขอให้น้ำเข้า คุณชายไม่ให้เข้า ตกลงว่าคุณชายจะเอาอย่างไร" นายปลอดประสพ กล่าว

นายปลอดประสพ กล่าวว่า รัฐบาลจะทำหนังสือตอบกลับไปยัง กทม. เช่นเดียวกับที่ กทม.ทำหนังสือเข้ามา ทั้งนี้ยืนยันว่าโครงการบริหารจัดการน้ำระยะยั่งยืนที่ กทม.ได้ร้องของบประมาณเข้ามานั้น ไม่ได้เป็นการสั่งการจากรัฐบาล เนื่องจากปัญหาความเห็นที่แตกต่างกันในอดีตเรื่องการนำน้ำผ่าน กทม. ทำให้รัฐบาลวางแผนทำคลองผันน้ำหรือฟลัดเวย์ เพื่อเบี่ยงน้ำที่เกินขีดความสามารถของแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ให้เข้า กทม. แต่ทาง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กลับมีความประสงค์ที่จะทำโครงการ

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าตนเองวิพากษ์วิจารณ์เชิงต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าไม่ให้ความร่วมมือเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ในที่ประชุมพรรคเพื่อไทย ทำให้พรรคชาติไทยพัฒนาไม่พอใจ นายปลอดประสพ กล่าวว่า ในความเป็นจริงได้มี ส.ส.อีสานของพรรคแสดงความเห็นในที่ประชุมว่า เหตุใดพรรคเพื่อไทยไม่ดึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาดูแล เพื่อช่วยเกษตรกร ซึ่งตนเองก็ตอบเพียงว่าเห็นด้วย แต่ก็บอกว่าวันนี้ นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ได้ไปทำหน้าที่ รมช.เกษตรและสหกรณ์ โดยดูกรมส่งเสริมการเกษตร และกรมการข้าว เพราะฉะนั้นคงไม่มีเรื่องไปทวงคืนอะไร เป็นการฟังไม่ได้ศัพท์จับมากระเดียด ซึ่งตนเองไม่อยากตอบโต้เพราะเป็นครอบครัวเดียวกัน รวมทั้งไม่เคยตำหนิใครว่าล้มเหลว อย่างกรมชลประทานก็ทำงานดี ทั้งนี้เชื่อว่าทางพรรคมีการบันทึกเสียงไว้ หากอยากให้ส่งไปให้ฟังก็ยินดี

"เรื่องนี้คงไม่ต้องเคลียร์ นายบรรหารเป็นอดีตผู้บัญชาที่มีพระคุณกับผม รู้จักผมดีว่าไม่บังอาจไปทำเช่นนั้น ที่สำคัญเป็นเรื่องไม่จริงด้วย

ด้านนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองให้ความเห็นเกี่ยวกับคำสั่งศาลปกครองกลางในคดีโครงการบริหารจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท เปิดเผยว่า ในวันนี้ได้เชิญสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม มาหารือถึงขั้นตอนการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมว่าขั้นตอนที่ผ่านมาเป็นอย่างไร เพื่อจะได้ทราบว่า หากจะมีการดำเนินการต่อไปจะต้องทำอย่างไรบ้าง ส่วนระยะเวลาในการดำเนินการก็ขึ้นอยู่กับแต่ละโครงการ เพราะใช้เวลาไม่เท่ากัน

สำหรับคำสั่งของศาลปกครองที่ให้ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 เป็นสิ่งที่จะดำเนินการอยู่แล้ว และส่วนหนึ่งก็จะอยู่ในการยกร่างสัญญาด้วยว่าจะเขียนให้สอดคล้องกัน โดยขั้นตอนการดำเนินการก็ต้องศึกษาวิเคราะห์ ประเมินผลกระทบ สิ่งแวดล้อม รวมถึงการเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบก่อน และเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ยืนยันว่าการศึกษาสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ตั้งใจทำอยู่แล้ว และในทีโออาร์ก็มีการระบุไว้ว่าต้องทำ

ส่วนความคืบหน้าขั้นตอนการพิจารณาว่าจะอุทธรณ์หรือไม่นั้น ขณะนี้ได้สั่งการให้หน่อยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่งข้อมูลไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งขณะนี้ได้ส่งไปแล้ว และมีบางความเห็น ที่เห็นต่างจากคำพิพากษาในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่าเป็นเรื่องใดบ้าง

ทั้งนี้ข้อมูลที่ตนทราบเป็นเพียงบางความเห็นเท่านั้น ซึ่งมีที่เห็นต่างกับคำพิพากษาในบางประเด็น ส่วนจะอุทธรณ์หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับอัยการว่าจะมีความเห็นอย่างไร ทั้งนี้หากจะยื่นอุทธรณ์ต้องดำเนินการภายใน 30 วัน หลังจากศาลมีคำสั่งออกมา ซึ่งจะครบกำหนดในช่วงปลายเดือนนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ