ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างเขื่อนริมน้ำเจ้าพระยา ณ วัดพนัญเชิงวรวิหาร จะเป็นคันป้องกันน้ำท่วมที่มีความมั่นคงแข็งแรงแบบถาวร เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำล้นตลิ่งและอุทกภัยรวมถึงไม่ส่งผลกระทบต่อทัศนียภาพริมแม่น้ำ โดยมีระยะเวลาในการก่อสร้าง 365 วัน เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 มีกำหนดจะแล้วเสร็จในวันที่ 2 กันยายน 2556 ซึ่งการดำเนินการมีความคืบหน้าไปกว่าร้อยละ 60 โดยรัฐบาลได้ใช้งบกลางไป 1.2 แสนล้านบาท ที่บางส่วนใช้ในการเยียวยา และใช้ในการป้องกันเร่งด่วนแต่ไม่ใช้เป็นการเชื่อมโยงตั้งแต่ต้นน้ำ แต่เป็นการป้องกันในพื้นที่ปลายน้ำเพื่อไม่ให้สร้างผลกระทบกับพื้นที่เศรษฐกิจ เช่น กรุงเทพมหานคร
ขณะที่โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทจะเป็นการเชื่อมโยงลุ่มน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ เพื่อพยายามให้มีการใช้ประโยชน์จากน้ำตั้งแต่ต้นน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อป้องกันภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้น และถือเป็นการใช้ประโยชน์จากน้ำมากกว่าจะปล่อยให้ไหลมาในปริมาณที่มากจนกระทบกับพื้นที่เศรษฐกิจ
พร้อมให้ดูว่าพื้นที่ไหนเป็นพื้นที่ที่น้ำมากจะได้หาพื้นที่แก้มลิงรองรับและดูแลประชาชนในด้านการเกษตรด้วย ซึ่งต้องดำเนินการทั้งด้านในและด้านนอกแนวกั้นน้ำ
สำหรับสถานการณ์น้ำในปีนี้ ยังไม่มีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง คงต้องดูในเรื่องของมรสุมและพายุที่จะมีเข้ามาแต่จนถึงขณะนี้ยังไม่พบว่ามีรายงานเข้ามาแต่อย่างใด และแนวป้องกันที่มีคาดว่าจะสามารถป้องกันได้ เว้นแต่จะเป็นบางพื้นที่ที่มีปริมาณฝนตกมากก็อาจมีปัญหาเรื่องน้ำท่วมขังบ้าง เสร็จแล้วได้เดินทางไปยังอาคารเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิเพื่อเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี
ก่อนหน้านั้น ในช่วงเช้า นายกฯ ได้ตักบาตรพระและสักการะหลวงพ่อโต (ซำปอกง) ณ วัดพนัญเชิงวรวิหาร อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ ถวายเทียนพรรษาและเครื่องไทยธรรม เนื่องในโอกาสวันเข้าพรรษา