"เป็นการโกหก พูดให้ประชาชนเข้าใจผิด ที่ผ่านมาเป็นการดำเนินการเชิงนโยบายเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนในวงกว้าง ซึ่งขณะนั้น กบอ.ก็ยังไม่รู้สถานที่ก่อสร้างโครงการ แล้วจะทำประชาพิจารณ์ได้อย่างไร" นายปลอดประสพ กล่าว
ตามโครงการดังกล่าวจะมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำและเขื่อนขนาดใหญ่ที่ต้องทำ HIA ทั้งสิ้น 5 แห่ง ขณะนี้กรมชลประทานศึกษาเสร็จแล้ว 4 แห่ง ส่วนเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่ต้องทำ HIA รวม 20 แห่ง ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จแล้ว 19 แห่ง
"เราจะต้องนำผลการศึกษาเหล่านั้นมาตรวจสอบอีกครั้งว่าเอกชนจะก่อสร้างตามแบบที่ของกรมชลประทานหรือไม่ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงก็จะต้องศึกษาใหม่อีกครั้ง ซึ่งรวมถึงการก่อสร้างที่เป็นการออกแบบก่อสร้าง หากระหว่างก่อสร้างมีการเปลี่ยนแบบอย่างมีนัยสำคัญ ก็ต้องศึกษา EIA และ HIA อีกครั้ง" นายปลอดประสพ กล่าว
นายปลอดประสพ กล่าวว่า การทำ EIA และ HIA อาจต้องใช้เวลา 1 ปี ส่วนของการทำ EIA โมดูลฟลัดไดเวอร์ชั่นหรือเส้นทางผันน้ำด้านฝั่งตะวันตกนั้นขณะนี้ได้ศึกษาแล้วกว่า 50% ขณะที่ฟลัดไดเวอร์ชั่นฝั่งตะวันออกนั้นไม่ต้องทำ เพราะแค่เป็นการขุดคลองเดิมให้ใหญ่ขึ้น โมดูลใดที่ไม่ต้องศึกษา EIA และ HIA ก็จะเดินหน้าลงนามสัญญา เช่น คลังข้อมูลจะให้เอกชนลงนามโดยเร็วภายใน 3 เดือนนี้ ขณะที่การทำประชาพิจารณ์และการรับฟังความคิดเห็นประชาชนนั้นจะดำเนินการต้นเดือน ส.ค.นี้ และจะเสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน
นายปลอดประสพ กล่าว แผนรับมือมือน้ำระหว่างดำเนินโครงการฯ นั้น รัฐบาลได้อนุมัติงบกลาง 1.2 แสนล้านบาทเพื่อฟื้นฟูและเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งในจำนวนนี้มีงบประมาณจำนวน 3-4 หมื่นล้านบาทที่ได้นำไปสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมแล้ว รวมทั้งงบประมาณ 3.5 แสนล้านที่บางหน่วยงานได้เบิกจ่ายเพื่อปลูกป่าต้นน้ำ โดยในปี 2555 เบิกจ่ายแล้ว 900 ล้านบาท และในปี 2556 เบิกจ่ายแล้ว 2,800 ล้านบาท
รวมทั้งมีการจัดระบบป้องกันน้ำ 3 ระดับ คือ 1.การยกระดับถนน 600-700 กิโลเมตร ซึ่งดำเนินการเสร็จแล้ว 70 เปอร์เซ็นต์ 2.การป้องกันเมือง 3.การป้องกันอาคารสิ่งก่อสร้าง การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานทำให้ภาครัฐรู้ล่วงหน้าว่าพื้นที่ใดบ้างที่จะมีน้ำมาก
ส่วนกรณีที่นายชวนนท์ระบุว่าไม่จำเป็นต้องมีเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท แต่ให้จัดสรรงบไปให้แต่ละกระทรวง ทบวง กรม เนื่องจากเป็นโครงการที่มีอยู่แล้วในหน่วยงานเหล่านั้น นายปลอดประสพ กล่าวว่า เงินกู้ดังกล่าวมีมิติการทำงานสองแบบ คือ แบบแรก ภารกิจโครงการป้องกันน้ำ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ใช้เวลาดำเนินการ 5 ปี ซึ่งใช้พื้นที่เป็นตัวกำหนดที่ภารกิจปกติไม่สามารถทำได้ ส่วนที่สองคือ ภารกิจของแต่ละกระทรวง ทบวง กรม ที่นำมาเชื่อมต่อกับโครงการและดำเนินการพร้อมกันโดยใช้เวลา 5 ปีเช่นกัน ซึ่งเป็นโครงการรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยทีขึ้นมาก่อนในประเทศ
"เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องดำเนินโครงการ ประชาธิปัตย์คิดโง่ๆ คิดอะไรใหม่ๆ กันไม่เป็น น้ำท่วมครั้งที่แล้วก็เพราะประชาธิปัตย์ นายชวนนท์พยายามให้เกิดความคิดที่แตกแยก ผมขอร้องผู้บังคับบัญชาของนายชวนนท์ให้เห็นแก่ส่วนร่วม และความเสี่ยงของประเทศ อย่าจับประเทศเป็นตัวประกัน" นายปลอดประสพ กล่าว
นายปลอดประสพ ยังกล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.จันทบุรี และตราด ว่า เนื่องจากมีปริมาณน้ำฝนเกินกว่า 100 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้เกิดน้ำท่วมแน่นอน แต่ยังเป็นปกติไม่ถึงขั้นวิกฤต สาเหตุอีกส่วนหนึ่งเนื่องจากทั้งสองจังหวัดมีพื้นที่อยู่ริมทะเล และเป็นช่วงน้ำทะเลหนุนจึงส่งผลให้ระบายน้ำไม่ทัน
"ขณะนี้ประเทศเราเข้าสู่ฤดูฝนอย่างแท้จริงแล้ว และจะเป็นอย่างนี้ไปอีกประมาณสามเดือน เนื่องจากมีร่องมรสุมพัดผ่านประเทศขึ้นลงไปมา แต่ถ้าโชคร้ายมีพายุก็จะส่งผลให้ฝนตกหนักกว่านี้" นายปลอดประสพ กล่าว