ขณะที่ ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทยในปัจจุบัน อยู่ที่ระดับ 40 สูงขึ้นจาก 38 และดัชนีแนวโน้มสถานการณ์คอร์รัปชันไทย อยู่ที่ ระดับ 42 ไม่เปลี่ยนแปลงจากครั้งก่อน
อนึ่ง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย จากกลุ่มตัวอย่าง 2,400 ตัวอย่างในกลุ่มประชาชน, ผู้ประกอบการ/ภาคเอกชน และข้าราชการ/ภาครัฐ
และเมื่อสอบถามผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจกับภาครัฐจะต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษ (ใต้โต๊ะ) แก่ข้าราชการ นักการเมืองที่ทุจริตเพื่อให้ได้สัญญาหรือไม่ ส่วนใหญ่ 78% ตอบจ่าย, 12% ตอบไม่รู้ และอีก 10% ตอบไม่จ่าย ในจำนวนผู้ที่จ่ายใต้โต๊ะ พบว่า สัดส่วนผู้ที่จ่ายสูงถึง 25-35% นั้น เพิ่มขึ้นสูงถึง 50.8% ของผู้ตอบแบบสอบถาม จากการสำรวจครั้งก่อนที่จ่ายระหว่าง 25-35% มีเพียง 38.5% เท่านั้น
โดยเมื่อประเมินวงเงินคอร์รัปชันจากงบประมาณรายจ่าย ค่าครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง งบลงทุนรัฐวิสาหกิจแล้ว จะพบว่า ในปี 56 ที่รัฐมีงบประมาณ ค่าครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ รวม 942,608 ล้านบาท หากมีการทุจริตคอร์รัปชัน 25% ของงบเหล่านี้ จะคิดเป็นเม็ดเงิน 235,652 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9.82% ต่องบรายจ่ายปี 56 ที่อยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท และคิดเป็น 1.88% ต่อจีดีพีปี 56 ที่ 12.54 ล้านล้านบาท หากมีการทุจริต 30% คิดเป็นเม็ดเงิน 282,782.4 ล้านบาท หรือ 11.78% ต่องบรายจ่าย และ 2.25% ต่อจีดีพี และหากมีการทุจริตสูงถึง 35% เม็ดเงินที่รัฐเสียหายจะสูงถึง 329,912.8 ล้านบาท หรือ 13.75% ต่องบรายจ่าย และ 2.63% ต่อจีดีพี
สำหรับโครงการของภาครัฐที่มีโอกาสเกิดการทุจริตมากที่สุด ได้แก่ โครงการรับจำนำข้าว มีโอกาสเกิดทุจริตมากถึง 9.2 คะแนนจากเต็ม 10 คะแนน รองลงมาคือ โครงการ 2 ล้านล้านบาท 9.1 คะแนน ตามด้วยโครงการบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท 9 คะแนน โครงการระดับท้องถิ่น 8.9 คะแนน และโครงการระดับจังหวัด 8.8 คะแนน
ส่วนเมื่อถามว่า รัฐบาลจะสามารถลดคอร์รัปชันได้จริงจังตามที่ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติหรือไม่ ส่วนใหญ่ 50.7% ระบุน้อยถึงไม่ได้เลย ส่วน 31.7% ระบุปานกลาง และอีก 17.6% ระบุมากถึงมากที่สุด