ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ชื่นชมความคิดริเริ่มของรัฐบาลโมซัมบิก เกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ให้สามารถเชื่อมโยงประเทศและภูมิภาค ผ่านการพัฒนาระเบียงใต้-เหนือ และตะวันตก-ตะวันออก ซึ่งรัฐบาลไทยถือว่าการสร้างความเชื่อมโยง หรือ Connectivity เป็นวาระแห่งชาติ และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานของโมซัมบิกอย่างเต็มที่
ด้านการลงทุน ไทยและโมซัมบิกยินดีสนับสนุนภาคเอกชนไทย ในการเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาต่างๆของโมซัมบิก โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ภาคเอกชนไทยเข้าไปมีส่วนลงทุนในโมซัมบิกอย่างมาก ทั้งจากธุรกิจขุดเจาะก๊าซธรรมชาติของบมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ซึ่งยังมีแผนที่จะลงทุนเพิ่มเติมในอีก 5 ปีข้างหน้า การประมูลโครงการสร้างทางรถไฟ และท่าเรือทางภาคเหนือของโมซัมบิกของภาคเอกชนไทย และคาดว่าจะมีการลงทุนจากนักลงทุนไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการลงทุนของไทยในภาคพลังงาน และโครงสร้างพื้นฐานจะมีมูลค่ามากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นการช่วยสร้างงาน และสร้างรายได้และประชาชนโมซัมบิก ทั้งนี้ทางการโมซัมบิกยืนยันที่จะช่วยปกป้องการลงทุนของนักลงทุนไทยในโมซัมบิกอีกด้วย
ด้านการค้า มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาจาก 123.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2010 เป็น 180.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2012 ซึ่งคิดเป็นอัตราร้อยละ 23 ต่อปี ซึ่งไทยถือเป็นหุ้นส่วนการค้าหลักในอาเซียนของโมซัมบิก ซึ่งไทยและโมซัมบิกเห็นพ้องตั้งเป้าให้ปริมาณการค้าเพิ่มขึ้น 2 เท่าในระยะเวลา 5 ปี
รวมทั้งการพัฒนาความร่วมมือและการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ ที่ไทยมีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน และทำงานอย่างใกล้ชิดกับโมซัมบิกในหลายสาขา อาทิ เกษตรกร เหมืองแร่ ประมง สาธารณสุข และการพัฒนา SMEs ซึ่งโมซัมบิกต้องการเรียนรู้ประสบการณ์และฝึกฝน เกี่ยวกับการบริหารจัดการสินค้าชุมชน การจัดการศัตรูพืชและการเพาะพันธุ์ปลานิลแดง โดยในเดือนนี้ไทยได้ส่งผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ไปโมซัมบิก ขณะเดียวกันทางประเทศไทย ยังได้มอบทุนการศึกษาในระดับปริญญาโทให้แก่โมซัมบิกอีกอย่างน้อย 10 ทุน พร้อมกับการให้การอบรมระยะสั้นในหลากหลายสาขาตามที่โมซัมบิกสนใจอีกด้วย
ส่วนความร่วมมือในสาขาอัญมณี เนื่องจากโมซัมบิกเป็นแหล่งแร่อัญมณีที่สำคัญ ทำให้การเยือนครั้งนี้ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือทางวิชาการในสาขาอัญมณีซึ่งแผนปฏิบัติการเป็นกรอบการดำเนินการ โดยมุ่งเน้นการลดอุปสรรคด้านการค้าขาย อัญมณีระหว่างกัน ทำการพัฒนาวิจัยร่วมกัน โดยฝ่ายไทยและโมซัมบิกจะร่วมกันทำงาน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาตลาดอัญมณี รวมถึงลดอุปสรรคด้านการค้า โดยไทยพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือในด้านการเพิ่มศักยภาพแก่อุตสาหกรรมอัญมณีของโมซัมบิกด้วย
สำหรับความสัมพันธ์และความร่วมมือในกรอบพุภาคี ไทยเล็งเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างความสัมพันธ์และกรอบการหารือที่ใกล้ชิดระหว่างเอเชียและแอฟริกา โดยไทยต้องการผลักดันความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนระหว่างสองภูมิภาค ซึ่งการสร้างความเชื่อมโยง (Connectivity) ผ่านมหาสมุทรอินเดียมีความสำคัญอย่างมาก ในการกระตุ้นการค้าและการลงทุน ไทยจึงได้ตั้งกรอบความร่วมมือ Thai — African Initiative ขึ้นเพื่อเป็นเวทีในการหารือและดำเนินการ รวมทั้ง สะท้อนวิสัยทัศน์ที่กว้างขึ้น จากการเชื่อมโยงในภูมิภาคเอเชียและแอฟริกา โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับสูงไทย-แอฟริกาช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2557
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า การเดินทางเยือนอาฟริกาครั้งนี้ เป็นโอกาสดีที่ไทยได้ประกาศเปิดตัวโครงการอาสาสมัครไทย (Thai Volunteers) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างไทยและแอฟริกา ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้ถือเป็นโครงการใหม่ และโมซัมบิกจะเป็นประเทศหลักในการดำเนินโครงการ โดยเป้าหมายไม่เพียงแค่แบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์ด้านการพัฒนากับประเทศในแอฟริกาผ่านอาสาสมัครเท่านั้น แต่ยังจะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนสู่ประชาชน ซึ่งโมซัมบิกยินดีสนับสุนโครงการนี้ให้ประสบความสำเร็จ
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการเปิดสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงมาปูโต ซึ่งการเปิดสถานทูตที่กรุงมาปูโตนี้ถือเป็นแห่งที่ 9 ในแอฟริกา เพื่อสานสัมพันธ์และผลักดันความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศ ภายหลังการหารือเสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐโมซัมบิกได้ร่วมเป็นประธานในการลงนามความตกลงและบันทึกความเข้าใจ 7 ฉบับ ได้แก่ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางด้านการค้าและเศรษฐกิจ บันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือทางการบิน ความตกลงว่าด้วยการยกเว้น การตรวจลงตราสำหรับหนังสือเดินทางทูตและราชการ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว บันทึกความเข้าใจด้านความเข้าใจด้านความมั่นคงทางอาหารผลิตภัณฑ์ ทางการเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภค และความตกลงว่าความร่วมมือทางด้านพลังงาน จากนั้น เวลาประมาณ 11.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) นายกรัฐมนตรีเดินทางกลับมายังโรงแรมที่พัก เพื่อเยี่ยมชมการจัดแสดงพลอยดิบ โดยกระทรวงทรัพยากรแร่โมซัมบิก ก่อนจะร่วมรับประทานอาหารกลางวัน ณ ภัตตาคาร Docks (Naval Club) โดยมีเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย เป็นเจ้าภาพ