แม้ว่าพันธมิตรฯ พร้อมที่จะพิสูจน์ตัวเองตามกระบวนการยุติธรรมเพื่อรักษาหลักนิติรัฐ นิติธรรม แต่ศาลอาญาก็ได้มีคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ อ. 973/2556 ให้ประกันตัวโดยมีเงื่อนไขตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2566 ว่า "ห้ามมิให้จำเลยกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรืออาจก่อให้เกิดภัยอันตรายต่อความเสียหายหรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำการใดๆ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล"
และศาลอาญาได้แถลงย้ำคำสั่งดังกล่าวอีกเป็นครั้งที่สองเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2556 ย่อมแสดงให้เห็นว่า แกนนำพันธมิตรฯ ผู้ปราศรัย พิธีกร ศิลปิน และประชาชนอีกจำนวนมากได้ถูกลิดรอนสิทธิจากคำสั่งดังกล่าว และเป็นข้อจำกัดจนไม่สามารถทำให้การชุมนุมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือประสบผลสำเร็จได้จริงในสถานการณ์ปัจจุบัน และวิธีการชุมนุมภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวก็ยังไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับผลลัพธ์ที่ได้ในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม กลุ่มพันธมิตรฯ ยืนยันคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมทุกฉบับ แม้ว่ากฎหมายนิรโทษกรรมที่นำโดยนายวรชัย เหมะ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ และ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเสนอที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 7-8 ส.ค. 56 จะยังไม่ได้ครอบคลุมในการนิรโทษกรรมให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในขณะนี้ก็ตาม แต่ก็มีลักษณะที่เอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องของตนเอง
"จุดยืนของพวกเรา คือ คัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมทุกฉบับ แม้ว่ากฎหมายดังกล่าวที่จะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรนั้น จะยังไม่ได้ครอบคลุมในการนิรโทษกรรมให้กับนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ในขณะนี้ก็ตาม แต่กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้มีลักษณะที่เอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องของตนเอง อันเป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ ไม่คำนึงถึงความเสมอภาค และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของประชาชนกลุ่มอื่น อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 อย่างชัดเจน"
พันธมิตรฯ จึงขอยืนยันเรียกร้องให้ ส.ส.ที่เกี่ยวข้องได้ถอนร่างกฎหมายที่มีเนื้อหานิรโทษกรรมให้ออกจากที่ประชุมสภานี้เสีย เพื่อให้ทุกฝ่ายพิสูจน์ตนเองเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน เสมอภาค และรักษาไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ และนิติธรรมจึงขอยืนยันเรียกร้องให้ ส.ส.ที่เกี่ยวข้องได้ถอนร่างกฎหมายที่มีเนื้อหานิรโทษกรรมให้ออกจากที่ประชุมสภาฯ เพื่อให้ทุกฝ่ายพิสูจน์ตนเองเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน เสมอภาค และรักษาไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ และนิติธรรม