ทั้งนี้ มอบหมายให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกัน ปราบปราม ยับยั้งเหตุการณ์ที่อาจจะกระทบต่อความมั่นคง หลังจากฝ่ายความมั่นคงประเมินสถานการณ์เห็นว่ามีความจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เนื่องจากมีการประกาศว่าจะมีการชุมนุมของหลายกลุ่มเพื่อคัดค้านและประท้วงไม่เห็นด้วยกับการประชุมรัฐสภา มีแนวโน้มว่าจะมีมวลชนมาร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมากและอาจยืดเยื้อ อาจลุกลามไปถึงขั้นยึดสถานที่ราชการ ซึ่งหวังผลทางการเมืองต้องการขัดขวางการทำหน้าที่ของรัฐสภา
จากนั้นได้มีการประชุม กอ.รมน.โดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติแต่งตั้ง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) เป็นผู้อำนวยการ ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.) โดยจะเป็นผู้รับผิดชอบและทำแผนในการดูแลความปลอดภัย และดูสถานการณ์ในทุกมิติของการชุมนุม รวมถึงเวทีปราศรัยของพรรคประชาธิปัตย์ด้วย สำหรับรูปแบบการปฏิบัติจะใช้แผนเดิมที่เคยใช้กับการชุมนุมกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม(อพส.)เมื่อปี 55
พร้อมทั้งยืนยันว่า การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ โดยมีทีมกฎหมายที่เป็นหน่วยงานของภาครัฐทั้งกฤษฎีกา, รมว.ยุติธรรม และรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านกฎหมาย ร่วมพิจารณา โดยจะเน้นการดูแลความสงบเรียบร้อยบริเวณทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา ซึ่งเจ้าหน้าที่มีความพร้อมปฏิบัติการตั้งแต่คืนนี้เป็นต้นไป
ทั้งนี้ คณะทำงานจะมีการประชุมประเมินสถาณการณ์และแถลงข่าวประจำทุกวันที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค.เวลา 10.00 น. ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ NBT
เลขาธิการ สมช. กล่าวด้วยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่จะเกิดขึ้น โดยได้โทรศัพท์ทางไกลมาจากแทนซาเนียเพื่อกำชับ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ให้ปฏิบัติตามกฏหมายภายใต้หลักนิติรัฐและนิติธรรม