แถลงการณ์ระบุว่ากรณีดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ต่อแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แหล่งอาหารเริ่มเป็นพิษและการประกอบอาชีพทางการประมงของชาวประมงพื้นบ้าน รวมทั้งแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเขตอุทยานแห่งชาติ เป็นจำนวนมาก ถึงแม้หน่วยงานภาครัฐและบริษัทผู้ก่อเหตุจะได้ร่วมมือกันดำเนินการยับยั้งแก้ไขปัญหาการแพร่กระจายของคราบน้ำมันดิบที่กระทบต่อชายฝั่งบริเวณอ่าวพร้าว และในท้องทะเลระยอง ไปบ้างแล้วก็ตาม แต่ทว่ามลพิษดังกล่าวยังคงแพร่กระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง จำเป็นที่จะต้องกำหนดมาตรการป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟูสภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และแหล่งท่องเที่ยวในระยะเร่งด่วนและระยะยาว จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะต้องมาบูรณาการในการทำงานกันทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง มิใช่มุ่งแต่โฆษณาชวนเชื่อ หรือรักษาภาพลักษณ์ ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ในการดำเนินการป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟูปัญหาดังกล่าว ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในทันที ทั้งนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าแม้จะมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน พ.ศ.2547 โดยมี “คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน" หรือ กปน. ที่มีรมว.คมนาคม เป็นประธาน ไม่สามารถสั่งการหรือดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้เต็มศักยภาพตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ เนื่องจากต้องดำเนินการกันในรูปคณะกรรมการไร้อำนาจการสั่งการโดยเร่งด่วนหรือเป็นเอกเทศได้
และที่สำคัญตั้งแต่มีกฎหมายดังกล่าวประกาศบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2547 เป็นต้นมา คณะกรรมการดังกล่าวก็ยังไม่เคยจัดประชุมกันเลย จึงเชื่อว่า “ไม่มีการจัดทำแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ" ตามที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดไว้ จึงเชื่อแน่ว่าหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่มีแผนดังกล่าว หรือมาตรการใด ๆ มารองรับในการดำเนินการขจัดการแพร่กระจายของมลพิษน้ำมันอย่างเป็นระบบได้
ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วนและฉุกเฉิน นายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องนำมาตรา 9 ของ พรบ.สิ่งแวดล้อม 2535 มาประกาศบังคับใช้โดยทันทีนับแต่บัดนี้ หรืออาจมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการแทนได้ หากนายกรัฐมนตรีไม่ดำเนินการหรือสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่งตามข้อเสนอดังกล่าว ก็อาจเข้าข่ายละเว้นเพิกเฉยต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ อันมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 257 ซึ่งอาจนำไปสู่การถอดถอนนายกฯออกจากตำแหน่งได้ หรือฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อนายกฯได้โดยตรงฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ฯ