"โคทม"แนะพท.-ปชป.หารือกม.นิรโทษกรรมให้ตกผลึกก่อนเดินหน้าต่อ

ข่าวการเมือง Thursday August 1, 2013 16:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนา หัวข้อ "นิรโทษกรรม..ทำเพื่อใคร?" โดยนายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธีมหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ต้องการให้พรรคเพื่อไทยไปหารือและทำความเข้าใจกับพรรคประชาธิปัตย์ให้ตรงกันก่อนเรื่องหลักการเกี่ยวกับการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยเฉพาะถ้าวันที่ 7ส.ค.ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านการพิจารณาจากสภาฯ ในวาระแรก ก็ให้ไปคุยกันในชั้นกรรมาธิการว่ากลุ่มเป้าหมายที่สมควรได้รับการนิรโทษควรเป็นกลุ่มใด จากนั้นในการพิจารณาของสภาฯ วาระ 2-3 ค่อยมาหารือรายละเอียดว่าจะนิรโทษกรรมอย่างไร

ดังนั้นจึงอยากจะเสนอว่าควรนำร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับญาติวีรชนและฉบับอื่นๆ มาประกอบการพิจารณาร่วมกัน และเห็นว่าการนิรโทษกรรมควรแบ่งเป็นช่วงเหตุการณ์ที่เกิดการชุมนุมทางการเมือง คือตั้งแต่พ.ค.49 ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเหตุการณ์พ.ค.53 รวมถึงต้องหารือเกี่ยวกับการรวมหรือไม่รวมกลุ่มบุคคลที่กระทำความผิดคดีความมั่นคงและมาตรา112 หากดำเนินการตามนี้ได้เชื่อว่าจะนำไปสู่ความปรองดองและสมานฉันท์

นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยคัดค้านการนิรโทษกรรมและการปรองดอง แต่จะคัดค้านการนิรโทษกรรมบางประเภทเท่านั้น ซึ่งการทำนิรโทษกรรมต้องไม่ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม ต้องอยู่ในความเห็นชอบของทุกฝ่าย และการนิรโทษกรรมจะยกเว้นความผิดที่กระทำต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ไม่ได้

ส่วนที่บอกว่ารัฐบาลในขณะนั้นเป็นผู้สั่งการ ก็น่าจะให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่ปากกล้าขาสั่น อยากให้อัยการสั่งฟ้องไวๆและแกนนำผู้ชุมนุมก็อย่าปากกล้าขาสั่น เอามาขึ้นศาลให้หมด เพื่อพิสูจน์ความจริง พร้อมกับขอร้องให้ถอนทุกร่างออกจากสภาฯ และกลับมาสมานฉันท์ปรองดอง อย่างไรก็ตาม ชายชุดดำที่ถูกว่าจ้างมา เขาบอกว่าถูกหักหลัง โดยเร็วๆ นี้เขาจะออกมาเปิดโปง

ด้านนายวรชัย เหมะ สส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย(พท.) ยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพวกตน ต้องการช่วยประชาชนจริงๆ คนที่ไม่ใช่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ ส่วนทหารยังไม่ถูกคดีแม้แต่รายเดียว จึงยังไม่ได้นิรโทษกรรม เชื่อว่าจะลดความขัดแย้งเราไม่มีแอบแฝง ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

นางพะเยาว์ อัคฮาด ญาติผู้เสียหายจากเหตุชุมนุมทางการเมืองพ.ค.53 มองว่า การนิรโทษกรรมครั้งนี้ต้องแตกต่างจากการนิรโทษกรรมที่ผ่านมา เพราะเหตุการณ์ปี 53 ต่างจากเหตุการณ์ในอดีต เพราะมีคู่กรณี 4 ฝ่าย คือ รัฐบาล, กองทัพ, นปช. และประชาชน จึงต้องมีการแยกแยะผู้ถูกนิรโทษให้เด่นชัด โดยการชุมนุมเมื่อปี 53 มีการตายต่อเนื่องของประชาชน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจทำเกินกว่าเหตุจึงควรเข้าสู่กระบวนการุติธรรม ไม่ใช่นิรโทษกรรมให้หมด

ส่วนการที่ระบุว่าหากนำร่างของญาติวีรชนเข้าสภาฯ ด้วยจะทำให้ล่าช้านั้น เหมือนสาดโคลนให้พวกตน ทั้งที่ 3 ปีที่ผ่านมาก็ไม่ได้ทำอะไร ทั้งนี้คิดว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับของญาติวีรชนจะสามารถบรรเทาความขัดแย้งลงได้ และหลายสิ่งหลายอย่างที่นายวรชัยพูดไปไม่ได้พูดกับความเท็จจริง

ด้านนายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย แสดงความเห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับญาติวีรชน ที่การนิรโทษกรรมต้องไม่ครอบคลุมทุกฝ่าย เช่น คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แม้จะยอมรับว่ากฎหมายนิรโทษกรรมเป็นเงื่อนไขลดความขัดแย้งและให้เกิดการปรองดอง แต่บรรยากาศบ้านเมืองขณะนี้ไม่เหมาะสมที่จะออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ