"การชุมนุมที่มีบทเรียนครั้งก่อนขององค์การพิทักษ์สยาม(อพส.)ที่สนามม้านางเลิ้งยังไม่บรรลุผล โดยเฉพาะเรื่องปริมาณคนที่มาร่วมชุมนุมค่อนข้างยากลำบากพอสมควร ทำให้เป็นไปในลักษณะโยนหินถามทาง และสิ่งที่น่าจับตามองคือการประกาศตัวชัดเจนของพรรคประชาธิปัตย์ จึงเหมือนกับเกมนอกสภา ประชาชนที่จะถูกดึงเข้ามาร่วมชุมนุมจึงแบ่งฝ่ายชัดเจนว่าเป็นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย(ต่อต้านรัฐบาล)หรืออาจนิยมชมชอบในพรรคการเมือง(ประชาธิปัตย์)"นายสุขุม เฉลยทรัพย์ ผู้อำนวยการสวนดุสิตโพล กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
ก่อนหน้านี้ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เคยออกมาเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศที่จะไม่เข้าร่วมการชุมนุมในครั้งนี้ อ้างเหตุผลคำสั่งศาลตั้งเงื้อนไขห้ามเคลื่อนไหวในการให้ประกันตัว และกลุ่มองค์กรทางการเมือง V For Thailand ได้ประกาศผ่านทางเฟซบุ๊คว่าไม่มีมติให้เข้าร่วมการชุมนุม หากใครจะไปชุมนุมก็ไปในฐานะผู้ชุมนุมเหมือนกับคนอื่นๆ
"สิ่งเหล่านี้ทำให้แนวร่วมต่างๆ อาจจะน้อยไป เพราะไม่มีอารมณ์ร่วม เหลือแต่การจัดตั้งที่จะชุมนุมอยู่แล้ว"นายสุขุม กล่าว
ผู้อำนวยการสวนดุสิตโพล กล่าวว่า สถานการณ์การชุมนุมในวันที่ 4 ส.ค.นี้ไม่น่าจะเกิดเหตุรุนแรง เนื่องจากเหตุการณ์ยังไม่สุกงอม และประชาชนที่มาร่วมชุมนุมส่วนใหญ่เป็นการจัดตั้ง ทำให้ไม่มีความกล้าทำอะไรที่มีความเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี
ส่วนความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นั้น นายสุขุม กล่าวว่า ท่าทีรัฐบาลที่จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะมีปัจจัยหนุนจากหลายด้าน เช่น จำนวนเสียงสนับสนุนในรัฐสภา กระแสสังคม เป็นต้น เพราะไม่ว่าจะมีการออกกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ก็มีกระแสต่อต้านระบอบทักษิณ หรือโค่นล้มรัฐบาลอยู่แล้ว อีกทั้งเห็นว่าหากรัฐบาลไม่ดำเนินการในช่วงนี้ โอกาสที่จะดำเนินการในอนาคตก็ยากขึ้นเรื่อยๆ
ขณะที่ น.ส.ปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการเอแบคโพลล์ แนะนำ รัฐบาลให้ระมัดระวังเรื่องการสัมภาษณ์ในทำนองยั่วยุหรือท้าทายกลุ่มผู้ชุมนุมที่อาจส่งผลให้เกิดเหตุรุนแรงตามมาได้ แม้จำนวนผู้ชุมนุมอาจจะมีไม่มากนัก แต่จากการสอบถามความเห็นของประชาชนมากกว่า 50% ก็ยังกังวลว่าจะมีเหตุรุนแรง
"ขึ้นอยู่กับท่าทีของฝ่ายการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะยังมีการออกมาพูดในลักษณะท้าทายประชาชนจนทำให้รู้สึกว่ารัฐบาลปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมหลายมาตรฐาน" น.ส.ปุณฑรีก์ กล่าว
ผู้ช่วยผู้อำนวยการเอแบคโพลล์ กล่าวว่า การชุมนุมของกองทัพประชาชนฯ ในวันที่ 4 ส.ค.นี้ แม้กลุ่มการเมืองอื่นๆ จะยังไม่มีมติที่จะออกมาร่วมเคลื่อนไหว แต่ก็ไม่ได้ห้ามกลุ่มผู้สนับสนุนของตนเองมาร่วมชุมนุม อีกทั้งอาจจะรอติดตามดูสถานการณ์การชุมนุมก่อนก็ได้ และเชื่อว่าหากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะส่งผลให้สถานการณ์ทางการเมืองตึงเครียดมากยิ่งขึ้นแน่นอน
"สิ่งที่ประชาชนอยากให้รัฐบาลทำตอนนี้เป็นเรื่องการแก้ปัญหาปากท้อง สิ่งแวดล้อม ภัยธรรมชาติ ราคาข้าว ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมากกว่า เพราะการพูดคุยในสภาฯ กับเป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ" น.ส.ปุณฑรีก์ กล่าว
ผู้อำนวยการสวนดุสิตโพล กล่าวว่า อยากฝากไปถึงรัฐบาลให้ออกมาชี้แจงรายละเอียดการดำเนินโครงการต่างๆ ให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจ เช่น โครงการเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท, โครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ 3.5 แสนล้านบาท โดยไม่ต้องรอให้สังคมมีคำถาม เพราะปัจจุบันภาพลักษณ์ของรัฐบาลขาดความน่าเชื่อถือในสายตาของประชาชน
ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ถ้าดูจากกระแสสังคม หลายภาคส่วนไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และเป็นจังหวะเวลาที่ไม่เหมาะสมในการนำเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะจะเป็นชนวนที่จะทำให้เกิดความรู้สึกแตกต่างแตกแยกในสังคม
พรรคเพื่อไทย อาจจะประเมินแล้วว่าคราวนี้พลังต่อต้านจะไม่มากนัก จึงนำเสนอเข้ามาอีกครั้ง ซึ่งถ้ามองจากเนื้อหาสาระแล้ว ประเด็นของพ.ร.บ.นิรโทษกรรมยังมีสิ่งที่ทำให้ภาคประชาชนเคลือบแคลงสงสัย คือ จะนำไปสู่การขยายความและนำไปสู่ผลที่เกิดขึ้นทางการเมืองโดยเฉพาะเอื้อประโยชน์ให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ แม้ว่าทางพรรคเพื่อไทยจะยืนยันว่าไม่มีเรื่องของอดีตนายกรัฐมนตรีเข้ามาเกี่ยวข้องก็ตาม
ดังนั้น จึงต้องรอดูในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่าจะมีการนำเอาประเด็นต่างๆเหล่านี้สอดแทรกเข้ามาเพิ่มเติมหรือไม่ และจะเป็นประเด็นที่จะพัฒนาไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมหรือไม่ เพราะเพียงแค่บอกว่าจะนำเอาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่สภาก็เกิดการคัดค้านจากฝ่ายต่างๆพอสมควร จนถึงขึ้นมีการนัดชุมนุมทางการเมือง ซึ่งยังประเมินไม่ได้ว่าจะมีคนมาร่วมชุมนุมมากน้อยแค่ไหน
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าวันที่ 7 ส.ค.ฝ่ายค้านคงจะทำหน้าที่เต็มที่อยู่แล้ว แต่ว่าเสียงของฝ่ายค้านที่เป็นรองคงจะไม่มีผลอะไร ที่สำคัญคือบรรยากาศนอกสภา พลังของคนที่จะมาชุมนุมคัดค้านจะมีมากน้อยแค่ไหน
ส่วนกรณีที่หลายกลุ่มการเมืองประกาศจะไม่ร่วมการชุมนุมนั้น มองว่า ถ้าฝ่ายที่มีความเห็นแตกต่างกับการเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมยังไม่สามัคคี ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน ก็จะทำให้พลังในการคัดค้านลดลงก็คงไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสภา
"พรรคประชาธิปัตย์แสดงจุดยืนจะยังไม่จัดการชุมนุมขึ้น ขอเล่นบทบาทในสภาเป็นหลัก เพราะถ้ามาแสดงบทบาทนอกสภาตั้งแต่เรื่องยังไม่เข้าสภาก็เกรงจะถูกครหาว่าไม่เคารพกฎเกณฑ์ประชาธิปไตย รวมถึงกลุ่มการเมือง เช่น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่ม V ประกาศจุดยืนไม่ชุมนุมทางการเมืองก็คงไม่น่ามีอะไรน่าเป็นห่วง"
อย่างไรก็ตาม เป็นห่วงบรรยากาศนอกสภา หากมีขบวนการที่ใช้วิธีการที่ทำให้เกิดความรุนแรง ก็จะทำให้สถานการณ์บานปลาย ซึ่งมองว่าการที่รัฐบาลประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง ดูแลสถานการณ์ใน 3 เขตของกรุงเทพมหานคร เป็นการใช้อำนาจของฝ่ายรัฐบาล แต่จะบังคับให้คนเชื่อฟัง คงไม่มีความหมายเพราะในสังคมไทยเรามักจะเห็นว่าการชุมนุมมีการละเมิดกฎหมายอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว
"ทุกฝ่ายต้องมีความอดทนอดกลั้น ต้องมีสติ ยอมรับความเห็นที่แตกต่าง ต้องยอมรับว่าการชุมนุมเป็นสิทธิ์ ยอมรับว่าการแสดงความแตกต่างทางความคิดเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ในสังคมไทยและให้โอกาสทุกฝ่ายในการแสดงความเห็น"นายสมชัย กล่าวตอนท้าย