(เพิ่มเติม) นายกฯเชิญทุกฝ่ายร่วมกันออกแบบประเทศไทยให้เกิดความเข้าใจ-สร้างประชาธิปไตย

ข่าวการเมือง Saturday August 3, 2013 12:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน ว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อให้เกิดการปรองดองขึ้นในชาติด้วยความพยายามอย่างจริงใจที่จะเดินหน้า ด้วยการอดทน ไม่ตอบโต้ เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดองและสร้างสรรค์บนความไว้เนื้อเชื่อใจกัน รวมทั้ง การเปิดพื้นที่ให้กับทุกกลุ่มที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมือง และรัฐบาลพร้อมที่จะประนีประนอมกับทุกฝ่าย และพยายามผลักดันให้มีการใช้เวทีรัฐสภามากกว่า ท้องถนนในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

แต่ในขณะเดียวกันก็เข้าใจเช่นกัน ว่าความขัดแย้งที่มีมาอย่างต่อเนื่อง เราจะคาดหวังให้เกิดความปรองดองที่แท้จริงนั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน ซึ่งทุกคนก็เห็นแล้วว่าในบางช่วงเวลา มีความขัดแย้งปะทุขึ้นจนเป็นเหตุแห่งความรุนแรง ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ใด ๆ ต่อสาธารณชน สังคมหรือเศรษฐกิจโดยรวมเลย

แต่ที่น่าเสียใจที่สุดคือ การที่มีบุคคลบางกลุ่มต้องการการเคลื่อนไหวบนท้องถนน ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่การแสดงออกกลับมีท่าทีที่ไม่ยอมรับกติกาของประชาธิปไตย มีการยั่วยุ กระตุ้นเพื่อนำไปสู่การล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เรียกร้องให้มีการปฏิวัติรัฐประหาร และใช้ความรุนแรง

ภายใต้สภาวะดังกล่าว รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องปกป้องและรักษาระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งต้องป้องกันเหตุร้ายและความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้ง คุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ราชการ และเอกชน ตลอดจนผู้ชุมนุม ที่สำคัญคือเป็นการดูแลให้ผู้ที่ใช้สิทธิและเสรีภาพอยู่ในกรอบกติกาประชาธิปไตย ดังนั้น เมื่อวันพุธที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีจึงมีมติประกาศใช้มาตรการตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551

ทั้งนี้ขอยืนยันว่า แม้รัฐบาลชุดนี้ จะมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แต่ดิฉันเชื่อเสมอว่าในระบอบประชาธิปไตย เราต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่และต้องให้เกียรติและรับฟังเสียงส่วนน้อยควบคู่กันไป เพราะประชาธิปไตยเป็นของทุกคน ไม่ใช่เป็นของเฉพาะผู้ประสบชัยชนะทางการเมืองจากการเลือกตั้งเท่านั้น โดยการคงกติกาการรักษาความเสมอภาคและเท่าเทียมกันแก่ทุกคน ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา ตลอดจนยังดำเนินการที่จะรับฟังปัญหาโดยตรงจากประชาชนทั่วประเทศ อย่างเช่นจากโครงการประชาเสวนาในการหาทางออกของประเทศ ทั้งในประเด็นแนวทางการปรองดอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการเสนอพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาค และการรักษาไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ นิติธรรม ที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยที่เป็นสากลทั่วโลกยอมรับ

ภายใต้ความพยายามทั้งหมดนี้ เข้าใจดีว่าหลายกลุ่มหลายฝ่ายยังมีปัญหาที่ค้างคาใจอยู่ และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในอดีต ไม่ว่าจะมีความเชื่อที่แตกต่างไม่ลงรอยกัน แต่ดิฉันเห็นว่าเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนในขณะนี้ ในฐานะเพื่อนร่วมชาติที่ต่างต้องการเห็นลูกหลานของเราทุกคนมีความสุข อยู่ในสังคมที่มีความสงบและมีความมั่นคงทางการเมืองและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ซึ่งเราจะต้องร่วมมือร่วมใจกันเพื่อแก้ปัญหาต่างๆเหล่านี้ให้บรรลุความสำเร็จ

สำหรับภายใต้ภาวะปัจจุบันที่มีความสับสนทางการเมืองเกิดขึ้นอีกครั้งในขณะนี้ และหลายคนกังวลว่าความขัดแย้งจะบานปลาย เกิดความไม่สบายใจ ดังนั้น ดิฉันจึงขอเสนอแนวทางเพื่อหาทางออกให้กับประเทศอย่างยั่งยืน โดยการวางทิศทางข้างหน้าอย่างสร้างสรรค์ มีส่วนร่วม ทิ้งความขัดแย้งไว้ในใจเพื่อประเทศของเรา โดยเปิดเวทีการระดมความคิดเห็น ที่จะขอเชิญชวนตัวแทนจากกลุ่มบุคคลทั้งฝ่ายรัฐบาล พรรคการเมือง แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สมาชิกวุฒิสภา องค์กรอิสระ เอกชน และนักวิชาการ มาร่วมโต๊ะพูดคุย ออกแบบประชาธิปไตยของประเทศไทย เพื่อหาทางออกให้กับอนาคตของเรา เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย และเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ

โดยในสัปดาห์หน้า รัฐบาลจะเชิญตัวแทนกลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่มีความเห็นที่หลากหลายต่างมุมมองให้มาหารือร่วมกัน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง ร่วมกันคิดว่าเราจะวางแผนอนาคตบ้านเมืองอย่างไร เพื่อไม่ให้เป็นภาระของลูกหลาน อันจะเป็นพื้นฐานของความร่วมมือในการพัฒนาชาติ สร้างความไว้วางใจ และความเปลี่ยนแปลงที่ออกจากวงจรแห่งความขัดแย้ง

"ดิฉันต้องการเห็นบรรยากาศของความร่วมมือ ที่เป็นบรรยากาศของความไว้เนื้อเชื่อใจ ไม่ใช่การจ้องจับผิด แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ไม่ละเว้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และเมื่อหารือกันแล้วใคร่เสนอให้มีการวางกลไกที่ชัดเจน ซึ่งอาจเป็นในรูปแบบของคณะทำงานหรือเรียกชื่ออื่นตามความเหมาะสมเพื่อเป็นกลไกที่ทำหน้าที่ในการปฏิรูปทางการเมือง โดยกลไกดังกล่าวจะเป็นเวทีสำคัญในการวางรากฐานอนาคตในโครงสร้างทางการเมือง กำหนดแนวทางปฏิรูปกฎหมาย และวางพื้นฐานระบบการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง ยั่งยืน เราต้องนำอดีตนั้นมาเป็นบทเรียน เพื่อทำให้ประเทศของเราเดินหน้า ก้าวพ้นความขัดแย้ง เราต้องเปิดโอกาสให้เปลี่ยนจากความขัดแย้งมาเป็นบรรยากาศของความคิดสร้างสรรค์และไว้ใจกัน เพื่อเป็นการมุ่งสร้างระบอบประชาธิปไตยแบบ มีส่วนร่วม เพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่าให้กับอนาคตลูกหลานของเรา และไม่ควรทิ้งมรดกของความขัดแย้งให้เป็น ภาระของรุ่นลูกรุ่นหลานของเราต่อไป"นายกรัฐมนตรี กล่าว

ส่วนการเดินทางเยือนสาธารณรัฐโมซัมบิก สหสาธารณรัฐแทนซาเนีย และสาธารณรัฐยูกานดา ว่า โมซัมบิกเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านค้าการลงทุน ถือเป็นประตูสู่อัฟริกา และหากมีการพัฒนาท่าเรือจะสามารถเชื่อมโยงจากท่าเรือทวาย สู่โมซัมบิกได้โดยใช้เวลาเดินทางเพียง 8 วัน โดยภาคเอกชนไทยสนใจลงทุนในโมซัมบิกในหลายด้านโดยเฉพาะอัญมนี ส่วนที่แทนซาเนีย ที่ได้ประกาศไทย-อัฟริกัน อินนิธิเอทีฟ ไทยจะให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการโดยเฉพาะบุคลากร จัดอาสาสมัครเข้าไปทำงานด้านสาธารณสุข การแลกเปลี่ยนครู และการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร เน้นข้าว มันสำปะหลัง มะม่วงหิมพานต์ และกล้วย ทั้งนี้แทนซาเนียต้องการให้ไทยถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการแปรรูปอาหารด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ