ในทางตรงกันข้ามประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมทางการเมืองที่ใช้ความรุนแรง มีการทำร้ายร่างกาย มีอาวุธ มีการทำลายทรัพย์สินให้เสียหาย ขาดสติ ไม่มีเหตุผล ใช้อารมณ์ในการตัดสิน และทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง
ส่วนความเห็นที่มีต่อการชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่จะมีการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรในเดือนสิงหาคมนี้ ประชาชน 37.24% รู้สึกเฉยๆ เพราะถือเป็นเรื่องปกติทางการเมือง ประชาชนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น ที่ผ่านมาก็เคยมีกลุ่มต่างๆออกมาเคลื่อนไหวโดยตลอด ฯลฯ แต่ประชาชนอีก 33.67% ไม่เห็นด้วยเพราะส่งผลต่อภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของประเทศ สังคมเกิดความวุ่นวาย เสี่ยงต่อการเกิดเหตุร้ายแรง ผู้ชุมนุมปะทะกัน ควรใช้วิธีการพูดคุยหรือส่งตัวแทนเจรจาอย่างสันติจะดีกว่า ฯลฯ ขณะที่ประชาชน 29.09% เห้นด้วยเพราะจะทำให้รัฐบาลรู้ถึงความต้องการและความคิดเห็นของประชาชน รัฐบาลจะได้ดำเนินการด้วยความรอบคอบและรัดกุมมากขึ้น เป็นการกระตุ้นให้คนในสังคมตื่นตัว รับรู้ข้อมูลหลายด้าน ฯลฯ
โดยสิ่งที่ประชาชนกังวลเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองครั้งนี้มากสุด คือ อาจเกิดเหตุการณ์รุนแรงที่ส่งผลต่อการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน การปะทะกันของผู้ชุมนุม และผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ รองลงมาเป็นภาพลักษณ์ของประเทศเสียหาย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ตามด้วยเป็นห่วงว่าจะมีผู้ไม่หวังดีเข้ามาสร้างความวุ่นวายในการชุมนุม ทำให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น และเหตุการณ์ยืดเยื้อบานปลาย การจราจรติดขัด ประชาชนไม่ได้รับความสะดวก
สำหรับแนวทางที่จะไม่ทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ระบุว่า ทุกคนต้องมีสติ ไม่วู่วาม มีเหตุผล และนึกถึงบ้านเมืองเป็นสำคัญ รองลงมาคือการที่ทุกฝ่ายร่วมมือกัน ประชาชนไม่ออกมาเคลื่อนไหว สื่อมวลชนจะต้องนำเสนอข่าวสารอย่างสร้างสรรค์ ถูกต้อง ชัดเจน ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องดูแลอย่างเข้มงวดกวดขัน ตรวจสอบป้องกันไม่ให้มีการพกพาอาวุธเข้ามาในกลุ่มผู้ชุมนุม ส่วนแกนนำฯ จะต้องดูแลควบคุมผู้ชุมนุมให้อยู่ในความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีการสื่อสารและทำความเข้าใจที่ชัดเจนตรงกันกับผู้ชุมนุม
ทั้งนี้ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,176 คน ระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม — 2 สิงหาคมที่ผ่านมา