รวมทั้งกรณีการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนฉุกเฉินและคุ้มครองชั่วคราวกรณีรัฐบาลออกประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ ด้วยการยกเลิก พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเป็นเวลา 5 ปี รวมทั้งยุบพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลที่ร่วมกันประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว เห็นว่าการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีในการประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เป็นการใช้อำนาจฝ่ายบริหารที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 2553 และการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยกเลิกพ.ร.บ.ดังกล่าว มิใช่เป็นกรณีที่ขอให้ศาลฯ วินิจฉัยสั่งการให้บุคคลเลิกกระทำการใดๆ อันเป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่ง ดังนั้นจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสอง ศาลฯ จึงไม่รับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย
นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่รับคำร้องที่นายมาลัยรักษ์ ทองชัย แกนนำกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(กวป.) ที่ขอให้วินิจฉัยว่า พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ แกนนำกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ กับคณะ ได้จัดจ้างมวลชนมาร่วมชุมนุมโค่นล้มรัฐบาล จัดให้มีการชุมนุมที่ไม่ได้เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มีการเคลื่อนมวลชนไปปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภาในวันที่ 7 ส.ค.นี้ เพื่อไม่ให้สมาชิกรัฐสภาเข้าร่วมประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้กลุ่มกองทัพประชาชนยุติการชุมนุมเพื่อล้มล้างรัฐบาลนั้น
ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการชุมนุมของกลุ่มดังกล่าวเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครองไว้ ยังไม่ปรากฏเหตุว่าเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามเพื่อล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่ง จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสอง จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย