ประกอบด้วย 1.ไทยต้องยอมรับบทบาทของรัฐบาลมาเลเซียในฐานะตัวกลางในการพูดคุย 2.การพูดคุยต้องเฉพาะตัวกลุ่มบีอาร์เอ็นร่วมกับคณะของไทย 3.จะต้องอนุญาตให้กลุ่มผู้สังเกตการณ์จากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน องค์การความร่วมมือแห่งศาสนาอิสลาม(OCI) และองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ (NGOs) เข้าร่วมในการสนทนาด้วย 4.ผู้ปกครองชาวสยามจะต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาอย่างไม่มีเงื่อนไข และจะต้องระงับการออกหมายจับผู้ต้องสงสัย 5.จะต้องยอมรับสถานะของกลุ่มบีอาร์เอ็นในฐานะองค์กรเพื่อการปลดปล่อยปัตตานี มิใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน
ทั้งนี้ สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เตรียมจะประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายยุทธศาสตร์และแก้ไขปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อพิจารณา โดยนายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดให้ดำเนินการ คาดว่าน่าจะได้ผลสรุปที่ชัดเจน
พล.ต.อ.ประชา ระบุว่า หากการเจรจายุติ ผลกระทบที่สำคัญตามมาคือประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้อาจเสียขวัญได้ สำหรับคลิปที่ออกมาเผยแพร่ผ่านยูทูปล่าสุดและอ้างว่าเป็นกลุ่มบีอาร์เอ็นที่ล้มการเจรจากับไทยนั้น รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ได้รับรายงานจากสันติบาลฝ่ายไทยแล้วเช่นกันว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นที่ไทยพูดคุยไม่ได้มีการประกาศชัดเจนแบบนั้น เนื่องจากบีอาร์เอ็นยังคงยืนยันว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดคือการเจรจา
พล.ต.อ ประชา ยังเห็นว่าหากไม่เจรจาก็จะเป็นการปฏิบัติการทางทหารฝ่ายเดียวซึ่งไม่เป็นผลดี ดังนั้นจึงควรเดินหน้าเจรจาต่อไปเพื่อยุติข้อขัดแย้งตามหลักสากล
ขณะเดียวกันยังได้รับการยืนยันจากผู้ประสานงานมาเลเซียว่าการเสียชีวิตของนายยะโก๊ป หร่ายมณี อิหม่ามประจำมัสยิดกลาง จ.ปัตตานี ไม่ใช่การกระทำของกลุ่มบีอาร์เอ็นแต่เป็นฝีมือของกลุ่มที่ไม่ต้องการให้การเจรจาสำเร็จ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจรายงานว่าการสืบสวนสอบสวนของคดีมีความคืบหน้าไปกว่าร้อยละ 90 คาดว่าจะสามารถออกหมายจับคนร้าย 2-3 คนได้เร็วๆ นี้ ส่วนเหตุที่ล่าช้าเนื่องจากต้องการให้ตรวจสอบให้ละเอียด เพราะจากอาวุธปืนที่คนร้ายใช้ก่อเหตุมีความพัวพันกับหลายคดี