ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 86.8 และตำรวจร้อยละ 84.0 ต้องการให้รักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ว่าจะเกิดเหตุรุนแรงเพียงไร
สำหรับการชุมนุมประท้วงในช่วงเวลาประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือไม่นั้น ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.3 ระบุว่าได้รับผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันน้อยถึงไม่กระทบเลย แต่ตำรวจส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.2 ระบุได้รับผลกระทบมากถึงมากที่สุด
เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงความเป็นมาตรฐานสากลของการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการควบคุมฝูงชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.6 คิดว่าทำไปตามมาตรฐานสากลแล้ว และเมื่อสอบถามถึงความพอใจโดยภาพรวมต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการคุมม็อบต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมครั้งนี้ พบว่า ส่วนใหญ่ทั้งประชาชนร้อยละ 60.8 และตำรวจร้อยละ 74.6 พอใจระดับมากถึงมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.6 ในกลุ่มประชาชน และร้อยละ 90.2 ในกลุ่มตำรวจต่างพอใจต่อความเป็นผู้นำของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ทั้งประชาชนร้อยละ 75.1 และตำรวจร้อยละ 78.9 ต้องการให้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นไปตามกระบวนการพิจารณาของสภาฯ มากกว่าการออกมาชุมนุมประท้วง ในขณะที่ร้อยละ 74.9 และร้อยละ 73.3 ต้องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ใครทำผิดก็ต้องดำเนินคดีอย่างเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.5 ในกลุ่มประชาชนและร้อยละ 72.3 ในกลุ่มตำรวจที่ระบุว่า ต่างฝ่ายต่างมีผลประโยชน์ซ่อนเร้น ปกปิดความจริงที่ต้องการอ้าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมครั้งนี้
อนึ่ง ผลการสำรวจในครั้งนี้มาจากความคิดเห็นของข้าราชการตำรวจในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล 412 นาย และประชาชนคนกรุงเทพฯ จำนวน 1,514 คน ดำเนินการสำรวจในระหว่างวันที่ 7-9 สิงหาคม 2556