โดยเวทีนี้เปิดกว้างให้ทุกฝ่ายเข้าร่วมรับฟัง ซึ่งจะเชื่อมโยงกับเวทีสภาปฎิรูปการเมืองของรัฐบาลที่มุ่งหวังให้ทุกฝ่ายใช้เวทีนี้ในการพูดคุยหาทางออกประเทศให้เป็นสากลมากขึ้น
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในเบื้องต้นมีการตอบรับอย่างไม่เป็นทางการแล้วจากนายโทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร และนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ โดยรูปแบบเวทีการหารือนั้น จะให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้กำหนดวัน เวลา ซึ่งอาจจะมีการจัดเวทีเช่นนี้ในทุก 1-2 เดือน และจะมีการเชิญผู้นำประเทศต่างเข้ามาร่วมด้วย อีกทั้งหวังว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมเวทีหาทางออกให้กับประเทศด้วยเช่นกัน
นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวขอบคุณประธานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่ร่วมกันพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งหวังว่าเวทีนี้จะเป็นอีกเวทีในการหาทางออกประเทศ และเป็นบรรทัดฐานร่วมกันแก้ปัญหาผ่านกระบวนการเวทีสภา ซึ่งขั้นตอนนับจากนี้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมธิการในการแปรญัติร่วมกัน ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านแสดงเจตนารมย์จะไม่ยอมรับ พ.ร.บ.หากเข้าสู่วาระ 3 นั้น เห็นว่าจะต้องมีการพูดคุยกันก้าวผ่านความขัดแย้ง รู้จักเสียสละ และให้อภัยกัน
นายกรัฐมนตรี ยืนยันด้วยว่าจะเดินหน้าพูดคุยเพื่อสร้างสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็นตามแผนงานเดิม ซึ่งการทำงานที่ผ่านมาของ สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ได้ยึดตามหลักการผ่านผู้อำนวยการความสะดวกประเทศมาเลเซีย ส่วนการที่นายอัสซัน ตอ ยิป ได้แถลงในคลิปวีดีโอล้มโต๊ะการพูดคุยนั้น คงต้องให้ทางการมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยการพูดคุยยืนยันอีกครั้ง