ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดหัวเมืองใหญ่ จำนวนทั้งสิ้น 1,614 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 14 - 17 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน ค่าความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.9 ติดต่อข่าวการเมืองเป็นประจำทุกสัปดาห์
เมื่อสอบถามถึงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ทางการเมืองว่าเข้าขั้นวิกฤตแล้วหรือไม่ พบว่า ร้อยละ 49.1 คิดว่าวิกฤตแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 50.9 คิดว่ายังไม่วิกฤต ที่น่าสนใจคือ เมื่อสอบถามถึงความคิดเห็นและอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนต่อการเมืองไทยในปัจจุบันในประเด็นต่างๆ พบว่า เกือบร้อยละร้อยหรือร้อยละ 97.1 คิดว่าการเมืองเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ รองลงมา ได้แก่ ร้อยละ 89.9 เรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันมาเจรจากัน ร้อยละ 74.5 รู้สึกเบื่อหน่ายต่อการเมือง ร้อยละ 71.7 รู้สึกวิตกกังวลต่อเหตุการณ์ทางการเมือง ร้อยละ 59.6 เครียดต่อเรื่องการเมือง ร้อยละ 22.4 ระบุขัดแย้งกับเพื่อนบ้านในเรื่องการเมือง ร้อยละ 20.1 ระบุขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงานในเรื่องการเมือง และร้อยละ 18.0 ระบุขัดแย้งกับคนในครอบครัวในเรื่องการเมือง
ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.2 ระบุว่าการเมืองเป็นเรื่องของประชาชนทุกคน ในขณะที่ร้อยละ 14.8 ระบุว่าเป็นเรื่องของนักการเมือง นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างจำนวนมากหรือร้อยละ 89.4 ระบุว่าควรให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในเวทีปฏิรูปประเทศหรืออยากให้เปิดโอกาสรับฟังเสียงของประชาชนบนพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งหรือร้อยละ 59.8 คิดว่าเวทีปฏิรูปประเทศอาจจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศและลดความขัดแย้งได้ ในขณะที่ร้อยละ 40.2 คิดว่าไม่สามารถช่วยได้
นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญคือ เมื่อสอบถามถึงความเชื่อมั่นที่กลุ่มตัวอย่างมีต่อรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในขณะนี้ พบว่า คะแนนเฉลี่ยของความเชื่อมั่นอยู่ที่ 5.42 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน