เลขาธิการนายกฯ ปัดข่าวเศรษฐกิจไทยถดถอย แต่โตแบบชะลอตัวลงเหตูฐานเดิมสูง

ข่าวการเมือง Wednesday August 21, 2013 14:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจของไทยยังไม่เกิดปัญหาถดถอย แต่เป็นเพียงการเติบโตที่ชะลอตัวลงกลับสู่ภาวะปกติ หลังมีรายงานข่าวว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 มีอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าลดลง 0.3% โดยเป็นการหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าติดต่อกัน 2 ไตรมาส จนทำให้เกิดความเข้าใจว่าประเทศไทยเข้าสู่ภาวะความถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
"ในข้อเท็จจริงแล้ว ตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ วิเคราะห์ได้ทั้งในรูปแบบเปรียบเทียบไตรมาสต่อไตรมาส หรือที่เรียกว่า QoQ(Quarter on Quarter) และเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา หรือ YoY(Year on Year) โดยถ้าวิเคราะห์แบบ YoY แล้ว เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 5.4% ในไตรมาสแรก และ 2.8% ในไตรมาสที่ 2 ดังนั้นเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวอยู่ แต่ในอัตราที่ลดลง หรือชะลอตัวลง ซึ่งการชี้นำว่าเศรษฐกิจไทยถดถอยนั้น เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลเพียงบางส่วน ทำให้เกิดการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน โดยนำเสนอเพียงตัวเลข QoQ เท่านั้น" นายสุรนันทน์ กล่าว

สาเหตุที่ตัวเลขเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 1/56 กับไตรมาส 2/56 ปรับตัวลดลง สะท้อนให้เห็นการปรับตัวของเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปกติมากยิ่งขึ้น โดยมาจาก 3 ปัจจัย คือ กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมรถยนต์ลดลงจากปี 55 ที่สูงกว่าปกติไปมาก ก็จะกลับสู่ภาวะปกติ จึงไม่ได้เป็นการถดถอยของเศรษฐกิจ, การเบิกจ่ายงบประมาณที่สูงเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 56(ต.ค.-ธ.ค.55) หรือไตรมาส 4/55 ซึ่งเป็นไปตามมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ และปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติในไตรมาสต่อมา รวมทั้ง วิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะ EU และสหรัฐอเมริกา ยังส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยและภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง

"ในอดีต การติดลบของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบ QoQ เคยเกิดขึ้นมาแล้วในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 และไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 โดยติดลบ 4.8% และ 2.6% ตามลำดับ ซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงจากการติดลบในช่วงนี้ เพราะครั้งนี้เป็นการปรับตัวจากฐานที่สูงมากในไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 เพื่อเข้าสู่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระดับปกติ แต่เมื่อปี 2552 เกิดจากการที่เศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะปกติแล้วลดลงสู่ระดับที่ต่ำผิดปกติ" นายสุรนันทน์ กล่าว

เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจัยที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมีเพียงการส่งออกเท่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ที่มีผลกระทบเป็นวงกว้าง เพียงแต่ที่ผ่านมาระบบเศรษฐกิจไทย จะพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งรัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าวจึงเน้นการดำเนินนโยบายที่สนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ ทำให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินภายในประเทศ เช่น นโยบายการสนับสนุน OTOP และ SMEs สร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนของประชาชนทุกระดับ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศผ่านทางโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท และโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและลดความเหลื่อมล้ำแล้ว ยังสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ