โดยจากการศึกษาร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับดังกล่าว รวมทั้งจากสำรวจ ศึกษา และวิเคราะห์ทางวิชาการ ประกอบกับการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง คปก.มีความเห็นว่า การแก้ไขคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามและการยกเลิกข้อห้ามต่างๆ เป็นการไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
สำหรับประเด็นคณะกรรมการสรรหาตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 113 ของรัฐธรรมนูญนั้นอาจไม่สอดคล้องเหมาะสม หากจะปรับปรุงเห็นควรปรับปรุงในส่วนของคณะกรรมการสรรหาให้มีความเชื่อมโยงกับประชาชน ในกลุ่มวิชาชีพ และสาขาอาชีพต่างๆ เพื่อให้เป็นหลักประกันว่าคณะกรรมการสรรหาดังกล่าวจะได้ทำหน้าที่ในการสรรหาผู้ที่มีความรู้ ประสบการณ์และมีความหลากหลาย เพื่อให้วุฒิสภามีความเป็นกลาง โปร่งใสและปลอดจากการแทรกแซง
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มีเจตนารมณ์ที่จะสร้างความโปร่งใสและสร้างดุลยภาพในฝ่ายนิติบัญญัติ โดยการกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบและกลั่นกรองกระบวนการนิติบัญญัติรวมถึงการพิจารณาเลือก แต่งตั้ง ให้คำแนะนำ หรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ และการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง วุฒิสภาจึงควรมีความเป็นกลาง ปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง
ดังนั้นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าว คปก.เห็นว่าควรคำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญประกอบด้วย เพราะการยกเลิกข้อห้ามทั้ง 3 กรณีดังกล่าวมีลักษณะที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ สามารถมาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาได้ทันที เช่นนี้ย่อมเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อดุลยภาพของรัฐธรรมนูญโดยภาพรวม อีกทั้งยังเป็นการเอื้อให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ อาจเข้าแทรกแซงและครอบงำวุฒิสภาได้ เป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้สมาชิกวุฒิสภามีความ เป็นกลาง โปร่งใสและปลอดจากการแทรกแซงใดๆ
ระบบรัฐสภาที่มีศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรในการถ่วงดุลยภาพนั้น จะสามารถทำหน้าที่ได้โดยอิสระและสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสุจริตเที่ยงธรรมได้นั้น การได้มาของตุลาการ และกรรมการขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ จะต้องปราศจากการแทรกแซงทางการเมืองของอำนาจฝ่ายต่างๆ ให้กระบวนการในการสรรหาตุลาการและกรรมการขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญสามารถสรรหาผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่
ภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ ย่อมทำให้ความมุ่งหมายที่จะให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระอื่นสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสุจริตเที่ยงธรรม สามารถบรรลุความมุ่งหมายได้ ซึ่งย่อมหมายถึง ดุลยภาพระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ภายใต้ระบบรัฐสภาของไทยย่อมเป็นไปอย่างมีดุลยภาพ
การแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นการแก้ไขที่มา คุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของสมาชิกวุฒิสภาในครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อดุลยภาพของระบบรัฐสภาที่มีศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรในการถ่วงดุลยภาพอย่างมีนัยสำคัญ เพราะการบัญญัติให้คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีความเหมือนกัน ตลอดจนปราศจากข้อห้ามการห้ามดำรงตำแหน่งหลังจากพ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือการดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง ย่อมส่งผลทำให้อิทธิพลของพรรคการเมืองเข้ามามีบทบาทต่ออำนาจของวุฒิสภามากขึ้น จนไม่อาจแยกความแตกต่างระหว่างที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาได้ในที่สุด การที่อำนาจของพรรคการเมืองเข้ามามีบทบาทครอบงำอำนาจของวุฒิสภาย่อมส่งผลกระทบต่อดุลยภาพของระบบรัฐสภาไทย