เอแบคโพลล์เผยประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกหมดศรัทธาต่อภาพลักษณ์ของรัฐสภาไทย

ข่าวการเมือง Saturday August 24, 2013 12:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เอแบคโพลล์ เผยประชาชนที่ติดตามการประชุมรัฐสภาในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมารู้สึกหมดศรัทธาต่อรัฐสภา เนื่องจากบรรยากาศส่วนใหญ่เป็นการทะเลาะเบาะแว้งและโต้เถียงกันมากกว่าที่จะการอภิปรายในเนื้อหาสาระ และเป็นเรื่องการรักษาผลประโยชน์ของคนเฉพาะกลุ่มมากกว่าอยู่บนพื้นฐานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ

"สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เกือบสองในสามหรือร้อยละ 65.1 รู้สึกหมดศรัทธาต่อรัฐสภา สภาผู้ทรงเกียรติของไทย ในขณะที่ร้อยละ 20.9 ระบุยังศรัทธาเหมือนเดิม และร้อยละ 14.0 ไม่รู้สึกอะไร" น.ส.ปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ระบุ

โดยประชาชนร้อยละ 89.0 คิดว่าเป็นการโต้เถียงกันมากกว่า มีเพียงร้อยละ 11.0 คิดว่ามีเนื้อสาระมากกว่า และส่วนใหญ่ร้อยละ 81.3 คิดว่าประเด็นการประชุมสภาฯ ในครั้งนี้อยู่บนพื้นฐานเพื่อผลประโยชน์ของคนเฉพาะกลุ่มมากกว่าอยู่บนพื้นฐานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ

ส่วนเรื่องความเป็นกลางของประธานรัฐสภา พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 46.6 คิดว่าประธานรัฐสภามีความเป็นกลาง ขณะที่เกินครึ่งหรือร้อยละ 53.4 คิดว่าไม่เป็นกลาง

ขณะที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 80.6 รู้สึกผิดหวังต่อพฤติกรรมความวุ่นวายและไม่มีมารยาทของ ส.ส.ในขณะประชุมสภาฯ เพราะประพฤติปฏิบัติตัวไม่เหมาะสมกับตำแหน่งในฐานะผู้แทนประชาชนทั่วทั้งประเทศ เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้แก่ประชาชนในเรื่องคุณธรรมจริยธรรม มารยาท ความรุนแรง และความขัดแย้ง ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ และไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามที่ประชาชนไว้ใจและคาดหวังไว้ เป็นต้น และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 82.1 รู้สึกผิดหวังต่อพฤติกรรมของ ส.ส.ที่ดูภาพวาบหวิวในขณะประชุมสภาฯ เพราะ แสดงถึงความไม่จริงใจและไม่ใส่ใจในการประชุม เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่เด็กและเยาวชน เป็นต้น โดยกลุ่มตัวอย่างจำนวนมากร้อยละ 86.9 เห็นด้วยถึงเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าถึงเวลาแล้วกับการปฏิรูปรัฐสภาด้านคุณธรรม จริยธรรม

"ประชาชนรู้สึกผิดหวังต่อพฤติกรรม มารยาท และคุณธรรม จริยธรรมของผู้แทนประชาชน ถ้าฝ่ายการเมืองและทุกภาคส่วนถือเอาหลักคุณธรรมและจริยธรรมมาเป็นแก่นสำคัญของชีวิต ประเทศชาติคงจะพัฒนาไปได้ไกลกว่านี้อีกเยอะ แต่ในความเป็นจริงและผลสำรวจที่ศึกษาครั้งนี้กลับพบว่า ผู้คนในสังคมไทยจำนวนมากนำเอาเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมมาเป็นเพียง"กันชน" เพื่อเสริมภาพลักษณ์ให้ตนเองดูดี เป็นผู้มีคุณธรรมในสังคม" น.ส.ปุณฑรีก์ กล่าว

ทั้งนี้ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้ทำการสำรวจ เรื่อง สภาอันทรงเกียรติกับการปฏิรูปด้านคุณธรรม จริยธรรมในสายตาประชาชน จากประชาชนจำนวนทั้งสิ้น 2,127 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 20-23 ส.ค.ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ