เอแบคโพลล์เผย ปชช.ไม่เชื่องบปี57จะถูกใช้อย่างโปร่งใส ควรแก้นิสัยนักการเมืองก่อนแก้รธน.

ข่าวการเมือง Sunday August 25, 2013 16:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง"ปลงกับความเบื่อหน่ายทางการเมืองและความเชื่อมั่นต่องบประมาณ ปี 57 ของประชาชน" กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี สมุทรปราการ แม่ฮ่องสอน พะเยา เชียงใหม่ อำนาจเจริญ มหาสารคาม ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น ภูเก็ต สุราษฏร์ธานีและนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,127 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20—24 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือนและประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน ความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.2 ติดตามข่าวสารการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.6 ไม่เชื่อว่างบประมาณจะถูกนำไปใช้อย่างโปร่งใส ในขณะที่ร้อยละ 22.4 เชื่อมั่นว่าจะถูกนำไปใช้อย่างโปร่งใส

นอกจากนี้ ร้อยละ 72.9 ไม่เชื่อมั่นว่างบประมาณประจำปี 2557 จะถูกจัดสรรอย่างเป็นธรรม เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วทั้งประเทศ ในขณะที่ร้อยละ 27.1 เชื่อมั่นว่าจะถูกจัดสรรอย่างเป็นธรรม

ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงระหว่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับนิสัยของนักการเมืองไทย ควรแก้อะไรก่อน พบว่า กลุ่มตัวอย่างจำนวนมากหรือร้อยละ 89.2 ระบุว่าควรแก้นิสัยของนักการเมืองก่อน มีเพียงร้อยละ 10.8 ระบุควรแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนและเมื่อสอบถามว่าฝ่ายการเมืองควรเร่งทำอะไรมากกว่ากันระหว่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับการแก้ปัญหาความเดือดร้อนและปัญหาปากท้องของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.8 ระบุว่าควรเร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนและปัญหาปากท้องของประชาชนก่อน ในขณะที่ร้อยละ 14.2 ระบุควรเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.5 รู้สึกเบื่อและปลงกับการเมืองไทย เพราะมีข่าวความขัดแย้ง ความวุ่นวายให้วิพากษ์วิจารณ์กันได้ทุกวัน และร้อยละ 18.5 ไม่รู้สึกอะไร

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อนึกถึงสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศอียิปต์ มีความกังวลว่าประเทศไทยอาจจะเกิดความขัดแย้ง บานปลายจนถึงขั้นต้องใช้ความรุนแรงหรือไม่ พบว่า ร้อยละ 42.4 รู้สึกกังวล เพราะต่างคนต่างไม่ยอมกัน พรรคการเมืองต่างพรรคทำงานร่วมกันลำบากจึงยากต่อการปรองดอง การเจรจามักจะอยู่บนพื้นฐานของอารมณ์มากกว่าเหตุผล เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 57.6 ไม่รู้สึกกังวล

อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 76.1 ระบุว่ายังมีความหวังความปรองดองและเยียวยาความแตกแยกของคนในชาติที่เกิดขึ้นในปัจจุบันถ้าหากได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และร้อยละ 23.9 ระบุไม่มีความหวัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ