นายกฯ มอบก.เกษตรศึกษาลดต้นทุนผลิตยาง, ชี้ประกันราคาทำได้ยาก เหตุใช้งบสูง-สวมสิทธิ

ข่าวการเมือง Wednesday August 28, 2013 18:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิม รุ่งวัฒนจินดา เลขานุการ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าฝ่ายประสานงานและเผยแพร่นโยบายรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ(โฆษกเศรษฐกิจ) กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีความห่วงใยเรื่องการชุมนุมของเกษตรกรชาวสวนยางที่เรียกร้องให้รัฐบาลเข้าไปดูแลราคายางพาราตกต่ำในขณะนี้ ซึ่งได้สั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องหามาตรการเยียวยาโดยด่วน โดยให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง พิจารณาในส่วนของมาตรการออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง

นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และนายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ศึกษาเรื่องแนวทางการลดต้นทุนการผลิตยางของเกษตรกร ทั้งในส่วนของปุ๋ยและแนวทางการจัดเกษตรโซนนิ่ง

นอกจากนี้ ถ้ารัฐบาลไปอนุมัติให้มีการประกันราคายาง 100-120 บาทต่อกิโลกรัม ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม อาจเกิดปัญหาในการนำยางจากต่างประเทศเข้ามาสวมสิทธิ เพื่อเอาราคาจำนำที่สูงกว่าราคาตลาด เพราะตอนนี้มีรายงานว่าในช่วงที่ราคายางตกต่ำ ผู้ประกอบการยางรายใหญ่ได้กว้านซื้อยางกักตุนเอาไว้จำนวนมาก และมาใช้วิธีนำมวลชนเคลื่อนไหวเพื่อกดดันให้รัฐบาลประกันในราคาที่สูง หากรัฐบาลยอมตามข้อเรียกร้อง ก็จะมีการเทขายทำกำไรกันออกมา

"การประกันราคายางที่ 100-120 บาทต่อกิโลกรัมเป็นไปได้ยาก เนื่องจากต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ต่างจากการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เพราะยางมีผลผลิตออกมามาทุกวัน แต่ข้าวมีผลผลิตออกมาเป็นฤดูกาล หรือ 4-5 เดือนจึงได้ผลผลิตครั้งหนึ่ง" นายวิม กล่าว

โฆษกเศรษฐกิจ กล่าวว่า สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยทำให้ราคายางสูงถึง 120-140 บาทต่อกิโลกรัม โดยมีมาตรการร่วมกันของประเทศผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เพื่อควบคุมจำนวนผลผลิตและการส่งออกยาง ดังนั้นอาจจะต้องกลับมาพิจารณาความร่วมมือดังกล่าวอีกครั้งเพื่อให้ราคายางกลับมาดีเหมือนเดิม เพราะหลังจากราคายางในตลาดโลกสูงขึ้น ทำให้มาตรการควบคุมขาดความต่อเนื่อง และผลผลิตยางมีสูงอย่างไร้การควบคุม เฉพาะในประเทศไทยมีการปลูกยางถึง 18-19 ล้านไร่ทั่วประเทศ ราคายางจึงตกต่ำ

"เกษตรกรชาวสวนยางเดือดร้อนจริงในเรื่องราคาขายยาง แต่ก็ต้องมีการพิจารณารอบคอบ เพื่อแก้ไขให้ถูกต้องเหมาะสม เพราะยางพาราถือเป็นสินค้าทางการเกษตรอันดับหนึ่งของประเทศในขณะนี้" นายวิม กล่าว

ส่วนการแก้ไขปัญหาการชุมนุมที่ส่งผลกระทบต่อการคมนาคมขนส่งในวงกว้าง นอกจากการขนส่งสินค้าแล้ว ล่าสุดทางบริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) แจ้งว่าผู้โดยสารที่จะเดินทางไปทางภาคใต้ได้แจ้งยกเลิกตั๋วโดยสารทั้งหมด โดยนายกรับมนตรีได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม ขอให้ส่งตัวแทนมาเจรจากับรัฐบาล เพื่อหาทางออกร่วมกัน รวมทั้งหาแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะสั้นและยาว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ