โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน ได้อภิปรายคนแรกถึงภาพรวมปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะราคายางพาราที่ตกลงจาก กก.ละ 120 บาทในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เหลือเพียง กก.ละ 66.76 บาท ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางเตรียมชุมนุมพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 3 ก.ย.นี้ พร้อมชี้ให้เห็นราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคที่ขยับตัวสูงอย่างต่อเนื่อง ทั้งราคาไข่ไก่แพงสุดฟองละ 7บาท ราคาก๊าชหุงตุ้มที่จะทยอยปรับขึ้นในวันที่ 1 กันยายนนี้ เดือนละ 50สตางค์ต่อกิโลกรัม ต่อเนื่องไป 12 เดือน ทำให้ก๊าซหุงต้มขนาดถัง 15 กิโลกรัม จะปรับราคาขึ้นถังละ 90 บาท ขณะที่ค่าเอฟทีของไฟฟ้าจะปรับขึ้นร้อยละ 15 ตลอดจนค่าทางด่วน แพงขึ้นร้อยละ 12 ซึ่งปัญหาทั้งหมดเกิดจากรัฐบาลบริหารงานผิดพลาด แก้ไขผิดจุด และไม่โปร่งใส โดยเปรียบเทียบราคาสินค้าทางการเกษตรในช่วงปี 2554 จนถึงปัจจุบันว่ามีราคาต่ำลง
ด้านนายสุกิจ อัถโถปกรณ์ ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อยากให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขึ้นมาดูแลแก้ปัญหา เพราะที่ผ่านมาชาวสวนยางได้รับความเดือดร้อน ก่อนหน้าที่จะมีการชุมนุมได้เรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือมาตลอด ซึ่ง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เคยไปยื่นหนังสือกับนายกรัฐมนตรีแต่ไม่มีโอกาสได้พบ และต้องยอมรับว่าข้อเรียกร้องของเกษตรกรชาวสวนยางไม่ได้รับการแก้ไขจึงเป็นที่มาของการชุมนุมประท้วงดังกล่าว
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ชี้แจงว่า รัฐบาลไม่เคยเลือกปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาให้เกษตรกร ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาข้าวหรือยางพารา ซึ่งการแก้ไขปัญหาเรื่องข้าวก็มีวิธีการหนึ่ง แต่ปัญหาเรื่องยางพาราก็มีหลายวิธี และจะเร่งให้มีการพูดคุยกับเกษตรกรชาวสวนยาง รัฐบาลยินดีรับฟังข้อเสนอแนะของฝ่ายค้าน และจะเร่งรับฟังปัญหาพูดคุยกับเกษตรกรชาวสวนยาง
พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรียังได้ชี้แจงถึงการเดินทางไปต่างประเทศว่า เป็นการสร้างความสัมพันธ์และเป็นการเปิดประตูการค้า เพราะเชื่อว่าตัวเลขการส่งออกจะตามมา และส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าให้กับภาคเอกชน โดยสิ่งที่สะท้อนกลับมามีหลายมิติ ทั้งความสัมพันธ์ และนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ยอดส่งออกที่ลดลงในขณะนี้เป็นผลจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังต้องเดินทางไปประชุมสำคัญๆ ที่ต้องใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศด้วย
หลังจากนายกรัฐมนตรีชี้แจงเสร็จ ได้ขอตัวต่อที่ประชุมฯ ว่ามีภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากมี ส.ส.สหรัฐอเมริกาเชื้อสายไทยเดินทางมาเข้าพบ ทำให้ถูก ส.ส.ฝ่ายค้านตำหนิว่านายกรัฐมนตรีไม่ให้ความสำคัญกับ ส.ส.ไทย
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นอภิปรายโดยขอให้นายกรัฐมนตรีอยู่ฟังการอภิปรายก่อน โดยเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลงมาแก้ไขปัญหาราคายางพาราและราคาปาล์มน้ำมันที่ตกต่ำด้วยตนเอง เพราะเป็นปัญหาที่หมักมานานและเมื่อครั้งที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ทำหน้าที่ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เคยประกาศว่าจะทำให้ราคายางพาราอยู่ที่กิโลกรัมละ 120 บาท ซึ่งเปรียบเสมือนว่ารัฐบาลได้สัญญาว่าจะให้ราคานี้
นายสุเทพเสนอให้รัฐบาลเร่งสร้างความมั่นใจให้กับพ่อค้าผู้ส่งออกทั่วประเทศ โดยรัฐบาลต้องกำหนดราคาเป้าหมาย และระยะเวลาที่จะทำให้ราคายางเป็นไปตามเป้าหมายให้มีความชัดเจน อีกทั้งเสนอให้นายกรัฐมนตรีเดินทางไปพบกับประธานาธิปบดีอินโดนีเซีย เพื่อพูดคุยและหาข้อตกลงร่วมกันว่าจะไม่ขายยางพาราตัดราคากัน เพราะทั้ง 2 ประเทศเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกยางได้มากเท่าๆกัน และนายกรัฐมนตรียังต้องไปพบกับประเทศผู้ซื้อรายใหญ่โดยเฉพาะประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่น เพื่อชี้แจงความจำเป็นในการปรับราคายางพารา ซึ่งหากรัฐบาลสามารถทำได้ปัญหาการชุมนุมก็จะคลี่คลายลง
พร้อมกันนี้ นายสุเทพได้ยืนยันว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังการจัดตั้งม็อบสวนยางตามที่มีข่าว จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงว่าจะนำข้อเสนอแนะของนายสุเทพไปหารือกับคณะรัฐมนตรีและเดินทางกลับทำเนียบรัฐบาลทันที
ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ ชี้แจงกรณีถูกพาดพิงในสมัยดำรงตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่เคยประกาศว่าราคายางจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 120 ว่า ช่วงปลายปี 2554 ก่อนที่ตนเองจะรับตำแหน่งฯ ได้มีกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางที่ จ.สงขลา ชุมนุมเรียกร้องราคายางที่ กก.ละ 120 บาท ซึ่งในขณะนั้นได้มีตัวแทนจากกระทรวงเกษตรฯ เข้าไปเจรจากับกลุ่มเกษตรกรและนำข้อเสนอดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย.) จนในที่สุดเข้าสู่การอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี โดยการจัดสรรผ่านโครงการรักษาเสถียรภาพราคาเมื่อวันที่ 24 ม.ค.55 จึงอาจทำให้เข้าใจว่าตนเองเป็นผู้รับข้อเสนอกับกล่มเกษตรกรชาวสวนยาง
นายพงศ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน ชี้แจงต่อที่ประชุมฯ ว่า การขึ้นก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือนจะไม่กระทบต่อคนจน เป็นการขึ้นภาษีเฉพาะคนรวย เนื่องจากคนจนจะได้รับการจดทะเบียน และมีการซื้อก๊าซในราคาที่มีส่วนลด และยืนยันว่าการจดทะเบียนไม่ได้ยุ่งยากแม้จะมีการลงทะเบียนด้วยตัวเลขจำนวนมาก แต่ผู้ค้าก๊าซและประชาชนต่างก็คุ้นเคยกับการลงทะเบียนผ่านระบบโทรศัพท์ ซึ่งก็มีการสอนและอบรมให้
รายงานข่าว แจ้งว่า หลังพิจารณาญัตติด่วนเสร็จแล้วที่ประชุมฯ ได้พิจารณาญัตติในลักษณะเดียวกันที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ค่าครองชีพสูง สินค้าราคาแพง กว่า 10 ญัตติ พร้อมกัน อาทิ เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหายางพาราตกต่ำและเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแก้ปัญหาค่าครองชีพสูงและสินค้าราคาแพง