ด้านความคิดเห็นต่อการลาออกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคประชาธิปัตย์เพื่อไปเป็นแกนนำทางการเมือง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.24 ระบุว่า ไม่ควรลาออก และไม่เป็นแกนนำทางการเมืองเคลื่อนไหวนอกสภาฯ รองลงมา ร้อยละ 17.65 ระบุว่า ไม่ควรลาออก แต่ร่วมเป็นแกนนำทางการเมืองเคลื่อนไหวนอกสภาฯ ร้อยละ 16.28 ระบุว่า ควรลาออก และเป็นแกนนำทางการเมืองเคลื่อนไหวนอกสภาฯ และร้อยละ 21.83 ไม่มีความเห็น/ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ
เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อความเพียงพอของกลไกระบบรัฐสภาและกลไกองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และศาลรัฐธรรมนูญ ในการถ่วงดุลอำนาจกับรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.98 ระบุว่า ไม่เพียงพอ เพราะเสียงน้อยกว่ารัฐบาล ขณะที่ ร้อยละ 28.77 ระบุว่า เพียงพอ เพราะมีอำนาจในการควบคุมและกำกับดูแลมากกว่ารัฐบาล และเชื่อมั่นในการทำงานของกลไกระบบรัฐสภาและองค์กรอิสระ และร้อยละ 24.25 ไม่มีความเห็น/ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ
ท้ายสุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อความเชื่อมั่นที่มีต่อพลังมวลชนที่เคลื่อนไหวนอกสภาฯ ว่าจะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมได้หรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.14 ไม่เชื่อ เพราะ รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทุกอย่างขึ้นอยู่การตัดสินใจของรัฐบาล ขณะที่ ร้อยละ 33.84 เชื่อ เพราะ กลุ่มคนหมู่มากย่อมมีแรงขับเคลื่อนมาก และรัฐบาลต้องฟังความเห็นของประชาชน และร้อยละ 14.02 ไม่มีความเห็น/ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ
ทั้งนี้ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 28 — 29 สิงหาคม 2556 จากประชาชนทั่วทุกภูมิภาค ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,241 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ เกี่ยวกับการประกาศยุติบทบาทของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่าง ๆ นอกสภาฯ โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน ร้อยละ 1.4