(เพิ่มเติม) อดีตผู้นำตปท. รับปรองดองทำยาก-ใช้เวลา-คนในชาติต้องมีส่วนร่วม

ข่าวการเมือง Monday September 2, 2013 13:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการจัดปาฐกถาพิเศษ "ผนึกกำลังสู่อนาคต : เรียนรู้ร่วมกันจากประสบการณ์"ว่า
การจัดปาฐกถาครั้งนี้เพื่อจะเรียนรู้จากความล้มเหลวและบทเรียนจากประเทศต่างๆเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการแก้ไขปัญหา เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อผนึกกำลังสร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็งและถาวร ความท้าทายในอนาคต คือ การสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้น ทั้งทางด้านการเมืองและด้านสิ่งแวดล้อม ประชาธิปไตยถือเป็นเรื่องทุกฝ่ายต้องเคารพในสิทธิของผู้อื่น
"ประชาธิปไตยจะเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า เราจะมีสิทธิและเสรีภาพ สามารถแสดงออกถึงศักยภาพของตัวเอง แม้จะมีความแตกต่าง แต่ก็สามารถนำความต่างเหล่านั้น มาพัฒนาการทำงานร่วมกันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น"นายกรัฐมนตรี กล่าว

ด้านนายโทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ กล่าวยืนยันตนเองไม่ได้รับเงินในการร่วมปาฐกถาครั้งนี้ พร้อมระบุว่าปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศ คนไทยเท่านั้นจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ และสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ เมื่อทุกฝ่ายมองเห็นรางวัลที่วางอยู่ในเบื้องหน้าร่วมกัน

พร้อมกันนี้ ยังระบุว่า การสร้างความปรองดองมีหลักอยู่ 5 ประการ ทั้ง การสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น และมีความรู้สึกที่อยากจะแบ่งปันโอกาสมากกว่าความแตกแยก / การนำเหตุการณ์ในอดีตมาบทเรียนและต้องมีการกำหนดกรอบการทำงานให้ชัดเจน ซึ่งกระบวนการปรองดองต้องเกิดความยุติธรรมและทุกฝ่ายยอมรับได้

เมื่อมีการกำหนดเป้าหมายในการปรองดองแล้ว หลักการที่สำคัญที่สุดอีกประการคือจะต้องเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง มีหลักนิติธรรม โดยประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่ใช่เพียงแค่การลงคะแนนเลือกตั้งและไม่ใช่การที่คนส่วนใหญ่เข้ามามีอำนาจแต่ขึ้นอยู่กับว่าได้ให้ความสำคัญกับคนส่วนน้อยอย่างไร รวมถึงเห็นว่าฝ่ายบริหารควรเคารพอำนาจและการตัดสินของฝ่ายตุลาการแม้บางอย่างอาจขัดใจตัวเองและตนเชื่อว่าการที่ทำให้องค์กรดังกล่าวมีความเป็นอิสระ ปราศจากอคติ คือกระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้อง

ทั้งนี้รัฐบาลต้องมีประสิทธิภาพในการดูแลประชาชนและต้องทำงานให้ได้ตามนโยบายที่ใช้หาเสียง ซึ่งการปรองดองจะเกิดขึ้นถ้าประชาชนรู้สึกว่ามีคุณภาพชีวิตที่ดี

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการปรองดองเกิดขึ้นได้ยาก แต่อย่ายอมแพ้และทุกคนในประเทศต้องเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งหากทำสำเร็จจะประโยชน์มาสู่ประชาชนทุกคน

นายมาร์ตี อาห์ติซารี อดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์ กล่าวว่า แม้สังคมในฟินแลนด์ปัจจุบันจะสงบสุข ไม่มีสงครามและความขัดแย้ง แต่ในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นช่วงที่ฟินแลนด์เพิ่งแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต ฟินแลนด์เกิดสงครามกลางเมือง มีการสูญเสียชีวิตของประชาชนไปกว่า 37,000 คน แต่ชาวฟินแลนด์ก็คิดว่า ความโศกเศร้าที่เกิดจากความสูญเสียในสงครามจะต้องไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งอีกต่อไป ทุกคนจึงเดินหน้าสร้างความปรองดอง รัฐบาลใหม่ในสมัยนั้นได้มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการยุติธรรมให้เอื้อต่อการสร้างความปรองดองและปกครองประเทศอย่างเป็นประชาธิปไตย

ปัจจุบันนี้ แผลจากสงครามกลางเมืองของฟินด์ก็ยังคงอยู่ ฟินแลนด์ยังคงมีการสนทนาและวิเคราะห์ถึงผลกระทบจากสงครามที่เกิดขึ้น แม้ว่าเราต่างคิดว่าการสร้างความปรองดองเป็นเรื่องยาก แต่ทุกคนก็เชื่อว่าความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ในที่สุด อดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์ ยกตัวอย่าง ความขัดแย้งในประเทศนามิเบีย อาเจะห์ และโคโซโว ที่แม้จะแตกต่างกัน แต่ล้วนมีสิ่งที่เหมือนกันคือ ทุกคนต่างมองถึงผลประโยชน์ในอนาคตร่วมกัน และต้องมีความรับผิดชอบไม่โทษใครคนใดคนหนึ่ง รัฐบาลก็ต้องสร้างความไว้วางใจให้แก่ประชาชน มีความมุ่งมั่นในการสร้างความปรองดอง และทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้

และที่สำคัญ ความปรองดอง คือ ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน โดยฝ่ายการเมืองก็ต้องยึดหลักความเสมอภาค และให้ความสำคัญกับนโยบายที่นำไปใช้ในสังคม นอกจากนี้ เราจำเป็นต้องพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนและการศึกษาควบคู่ไปด้วย โดยมีบทเรียนที่มีการเขียนประวัติศาสตร์ที่ยอมรับในอดีต แต่ก็ต้องมองถึงประโยชน์ของประเทศในอนาคต อดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์ ย้ำว่า รัฐบาลและผู้นำประเทศต้องมีความมุ่งมั่นว่าความปรองดองจะต้องเกิดขึ้น และแม้ว่าอาจจะใช้เวลานานนับสิบปีหรืออาจสะดุดไปบ้าง แต่การสร้างความปรองดองก็สามารถเริ่มใหม่ได้เสมอ

นางพริซิลลา เฮย์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านและที่ปรึกษาอาวุโสของ Centre for Humanitarian Dialogue (HDC) กล่าวว่า การสร้างความปรองดองไม่สามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว และบุคคลภายนอกไม่สามารถเข้ามาวิจารณ์ได้ บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าใจคนในได้อย่างแท้จริง

การปรองดองต้องมีการลำดับความสำคัญจากทางภาครัฐ คำว่า"ความปรองดอง reconciliation" บางครั้งก็มีความหมายต่างกัน แนวคิดที่จะนำประเทศมาเป็นหนึ่งเดียวกันเป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นด้วย แต่คำนี้ในเชิงปฏิบัติคืออะไร คนมักมองว่า ความปรองดองจะต้องไม่มีวาระซ้อนเร้น ต้องไม่มุ่งไปที่ความต้องการของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต้องสร้างความไว้วางใจ ระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ และต้องไม่เร่งรีบและรับฟัง ต้องข้ามผ่านความเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งการที่จะก้าวผ่านความแตกต่าง โดยการเอาสิ่งต่างๆมาปิดปังไว้นั้นไม่สามารถทำได้ มันคือการปิดบังรากฐานหรือแก่นแท้ของปัญหา

"เราต้องยอมรับว่ามีความแตกต่างอยู่ในสังคม การปรองดองไม่ใช่การลืม การบังคับขู่เข็ญ หรือการปกปิด สิ่งที่ดีที่สุด คือ การเน้นที่ขบวนการไม่ใช่ที่ผลลัพธ์เป็นเส้นทางเดิน มุ่งมั่นเพื่อดำเนินการต่อไป การเดินไปข้างหน้าเราต้องมีความคิดสร้างสรร มีความคิดริเริ่มทางการเมือง ทั้งของฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และเป็นสิ่งที่คนนอกไม่สามารถทำได้ อีกทั้งเราควรนำเอาความคิดเห็นจากองค์กรต่างๆของไทย นำมาดูเป็นองค์รวม

คำว่าปรองดองมักจะโยงกับการนิรโทษกรรม ซึ่งจะเป็นการผิดพลาดมากหากเรามอง หรือตีความแคบจนเกินไป เราต้องเคารพความคิดเห็นของผู้ที่สูญเสีย และนำมาปรึกษาหารือกัน และแม้เราจะยกโทษให้กับอาชญากรรมบางอย่าง แต่ไม่ควรลบล้างความเป็นจริงที่เกิดขึ้น รวมทั้งต้องทำงานอย่างต่อเนื่องแม้จะมีการประท้วง กรอบทุกอย่างควรมีประชาธิปไตยรองรับอยู่เสมอ ต้องมีการจัดพื้นที่ให้คุย ถกเถียงกัน ในขณะเดียวกันในทางการเมืองจะต้องใช้ประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์ของประเทศโดยรวม"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ