"รองประธานรัฐสภาซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมได้รวบรัดให้ปิดอภิปราย ทำให้ ส.ส.ฝ่ายค้านไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ และวิปฝ่ายค้านมีความเห็นว่านายนิคมกระทำผิดรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ทั้งการวินิจฉัยที่แตกต่างไปจากประธานรัฐสภาที่วินิจฉัยไว้ก่อนหน้านี้และการวินิจฉัยเป็น 2 มาตรฐาน วิปฝ่ายค้านจึงมีความเห็นที่จะยื่นถอดถอนนายนิคมออกจากการเป็นประธานวุฒิสภา ฐานปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นกลางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 89 และมีผลประโยชน์ทับซ้อน" นายจุรินทร์ กล่าว
เนื่องจากเมื่อแก้รัฐธรรมนูญเสร็จแล้วนายนิคมสามารถลงสมัคร ส.ว.ได้อีก ซึ่งถือว่าผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 112 เพื่อให้รัฐธรรมนูญที่กำลังแก้ไขได้ผ่านการพิจารณาไปอย่างรวดเร็ว โดยการจำกัดสิทธิ์ของสมาชิกไม่ให้อภิปรายและทำหน้าที่ อีกทั้งคำวินิจฉัยของนายนิคมก็ขัดกับประธานรัฐสภา ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา ทั้งที่ ส.ส.ฝ่ายค้านได้ท้วงติงแล้ว โดยฝ่ายค้านจะยื่นเรื่องถอดถอนในวันพรุ่งนี้(6 ก.ย.) ต่อประธานวุฒิสภา เพราะต้องใช้เวลารวบรวมสมาชิกและยกร่างคำถอดถอนก่อน
ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวด้วยว่า วิปฝ่ายค้านยังมีมติให้ ส.ส.พรรคไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 ในกรณีที่มีความเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา และคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภาที่มีการแก้ไขไปนั้น เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ โดยไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ ซึ่งได้มีการแก้ไขที่มาของวุฒิสมาชิกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ให้มี ส.ว.มาจากการเลือกตั้งและสรรหา รวมทั้งแก้ไขคุณสมบัติของผู้ลงสมัครวุฒิสภา ถือว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญทำให้เกิดความสูญเสียทางดุลยภาพ เปิดโอกาสให้ฝ่ายการเมืองสามารถครอบงำวุฒิสภา ซึ่งเป็นสถาบันนิติบัญญัติได้ในอนาคต