โดยเข้าสู่การพิจารณา มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 117 และมาตรา 118 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 117 สมาชิกสภาพของสมาชิกวุฒิสภาเริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ให้วาระของวุฒิสภามีกำหนดคราวละหกปีนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง มาตรา 118 เมื่อวาระของวุฒิสภาสิ้นสุดลง พระมหากษัตริย์จะได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่วาระของวุฒิสภาสิ้นสุดลง และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราอาณาจักร"
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.สรรหา หารือต่อที่ประชุมว่าการเรียกประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 7 กันยายน ใช้ข้อบังคับประชุมรัฐสภาข้อใด เพราะตามหลักการต้องมีการนัดประชุมล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน อย่างไรก็ตาม การลงมติเพื่อปิดอภิปรายเมื่อค่ำวันที่ 6 กันยายน โดยไม่ฟังเสียงผู้ที่สงวนคำแปรญัตติ ตนขอเรียกร้องให้มีการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวอีก ตั้งแต่มาตรา 7 ถึง มาตรา 13 เพื่อไม่ให้เสียเวลา ทำให้นายสมศักดิ์ ชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 6 กันยายน นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ฐานะรองประธานรัฐสภา ใช้คำสั่งว่าพักการประชุมทำให้การนัดประชุมในวันที่ 7 กันยายนจึงสามารถทำได้
จากนั้น นายฉัตรพันธ์ เดชกิจสุนทร ส.ส.กาญจนบุรี พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้หารือในที่ประชุมว่า การเปิดประชุมมีความล่าช้า เพราะต้องรอ ส.ส.ซึ่งเป็นเสียงข้างมากของรัฐสภา ทำให้ต้องเสียเวลารอกว่า 1 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ตนขอใช้เอกสิทธิ์เสนอให้ที่ประชุมนับองค์ประชุม โดยนายสมศักดิ์ ชี้แจงว่า เพื่อให้การประชุมไปด้วยความเรียบร้อยขอให้เดินหน้า และขอเรียกร้องอย่าใช้ลูกเล่นแบบนี้ หากเล่นแบบนี้ ตนจะใช้วิธีของตน ทำให้นายฉัตรพันธ์ ลุกขึ้นย้ำว่าขอให้ดำเนินการทันที
นายพายัพ ปั้นเกตุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ลุกขึ้นเสนอให้มีการนับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ แต่ท้ายสุดนายสมศักดิ์ ได้ตัดสินใจพักการประชุม เป็นเวลา 10นาที
เมื่อเวลา 13.10 น. นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ปธ.สภา ได้กดออดเรียกสมาชิกเข้าห้องประชุม พร้อมกับให้มีการขานชื่อสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมทีละคน