ผลสำรวจถึงประสบการณ์การได้รับความช่วยเหลือลดความเดือดร้อนจากนักการเมืองฝ่ายต่างๆ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.5 ระบุไม่เคยได้รับการช่วยเหลือ ลดความเดือดร้อนจากนักการเมืองฝ่ายใดเลย ในขณะที่ร้อยละ 24.3 ระบุเคยได้รับจากฝ่ายรัฐบาล และร้อยละ 7.2 ระบุเคยได้รับจากฝ่ายค้าน
ส่วนการรับรู้ข่าว การเปิดกว้างมีน้ำใจต่อกันช่วยเหลือเกื้อกูลกันของนักการเมืองจากพรรคการเมือง พบว่า ร้อยละ 42.6 ระบุไม่มีพรรคการเมืองฝ่ายใดเลย รองลงมาคือร้อยละ 36.1 ระบุฝ่ายรัฐบาล และร้อยละ 21.3 ระบุฝ่ายค้าน
อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 53.9 ระบุไม่รับรู้เลยว่ามีพรรคการเมืองฝ่ายใดเลยที่แสดงออกซึ่งความรักชาติ รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ในขณะที่ร้อยละ 35.4 ระบุฝ่ายรัฐบาล และร้อยละ 10.7 ระบุฝ่ายค้าน ที่น่าพิจารณาคือ ร้อยละ 55.4 รับรู้ข่าวชีวิตความเป็นอยู่ที่สบาย หรูหรา มีฐานะการเงินร่ำรวยของฝ่ายรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 28.2 ระบุฝ่ายค้าน และที่เหลือร้อยละ 16.4 ระบุไม่มีจากพรรคการเมืองฝ่ายใดเลย
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.1 ระบุความร่ำรวยของนักการเมืองทำให้เกิดความเชื่อมั่นศรัทธาต่อนักการเมืองน้อยถึงไม่มีเลย ในขณะที่ร้อยละ 35.9 ระบุทำให้เชื่อมั่นมากถึงมากที่สุด ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.2 ระบุไม่มีพรรคการเมืองใดที่ลงไปคลุกคลี สัมผัสชีวิตความยากลำบากของชาวบ้านประชาชนในถิ่นทุรกันดาร ในขณะที่ร้อยละ 28.3 ระบุฝ่ายรัฐบาล และร้อยละ 10.5 ระบุฝ่ายค้าน
ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ร้อยละ 48.9 รับรู้ถึงพฤติกรรมที่เสื่อมเสียไม่เป็นแบบอย่างที่ดีต่อเด็กและเยาวชนของนักการเมืองฝ่ายค้าน ในขณะที่จำนวนมากเช่นกันหรือร้อยละ 45.7 ระบุฝ่ายรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 5.4 ไม่มีฝ่ายใดเสื่อมเสีย
ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.7 ยังคงเชื่อมั่นมากถึงมากที่สุดต่อระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้จะมีนักการเมืองที่ไม่เป็นแบบอย่างที่ดี ในขณะที่ร้อยละ 16.3 เชื่อมั่นน้อยถึงไม่เชื่อมั่นเลยต่อระบอบประชาธิปไตย และถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง ผลวิจัยพบว่า ความนิยมของสาธารณชนต่อพรรคเพื่อไทยอยู่ที่ร้อยละ 44.6 ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์อยู่ที่ร้อยละ 22.9 ส่วนร้อยละที่เหลือกระจายไปยังพรรคการเมืองอื่นๆ
นายนพดล กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศ และการเมืองจึงต้องมุ่งเน้นมาที่พฤติกรรมและภาพลักษณ์ของนักการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเห็นแต่ยังไม่ได้เห็นถึงการทำหน้าที่ ของนักการเมืองในการรักษาผลประโยชน์ของชาติและลดความเดือดร้อนของประชาชนมากเท่าใดนัก แต่กลับเห็นพฤติกรรมที่เสื่อมเสียไม่เหมาะสม ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีต่อเด็กและเยาวชน
ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า หากวันนี้เป็นวันเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยยังคงมีโอกาสสูงที่จะกลับมาเป็นรัฐบาลต่อไป แต่ถ้ารัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีความมุ่งมั่นจะทำงานรับใช้สาธารณชนไปอย่างยาวนาน อาจจะพิจารณาเร่งแก้ไขระบบ"เงินทอน"ในกลุ่มคนใกล้ชิดรัฐมนตรี และคณะที่ปรึกษาบางคนให้ได้เพื่อรักษาระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยไว้ให้ได้อย่างยั่งยืน