รัฐสภาถกแก้ รธน.มาตรา 10 หวิดล่ม หลัง"วรชัย"เสนอปิดอภิปราย

ข่าวการเมือง Wednesday September 11, 2013 15:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าว แจ้งว่า การประชุมร่วมกันของรัฐสภาซึ่งเริ่มเมื่อเวลา 10.00 น.มีนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยเริ่มพิจารณาที่มาตรา 10 ว่าด้วยการให้ ส.ว.ซึ่งมีสมาชิกภาพอยู่ในวันที่รัฐธรรมนูญใช้บังคับยังคงมีสมาชิกภาพและปฏิบัติหน้าที่วุฒิสภาต่อไป วันที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่กำหนดให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง 200 คนใช้บังคับ และหลังจาก ส.ว.สรรหา หมดวาระลง ไม่ต้องดำเนินการสรรหา ส.ว.อีก โดยบรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยความราบรื่น จนถึงเวลาประมาณ 11.40 น.ระหว่างการอภิปรายของนายสมชาย แสวงการ ส.ว. สรรหา บรรยากาศเริ่มตึงเครียดเมื่อนายวรชัย เหมะ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอปิดอภิปรายมาตรา 10 เพราะเห็นว่า สมาชิกอภิปรายซ้ำประเด็น ทำให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว.สรรหา ลุกขึ้นประท้วงว่าเป็นการปิดปากสมาชิก

พร้อมยืนยันว่า สมาชิกรัฐสภามีเอกสิทธิในการอภิปรายตามที่แปรญัตติไว้ อีกทั้งเชื่อว่าการอภิปรายไม่ซ้ำประเด็น เพราะผู้อภิปรายยังไม่ถึง 10 คน ซึ่งในมาตรานี้มีผู้อภิปรายประมาณ 20 คน สมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้านอภิปรายไม่เห็นด้วยกับการให้ยกเลิก ส.ว.สรรหา เพราะหาก ส.ว.เลือกตั้ง ยังรับรองไม่ครบร้อยละ 95 จะไม่สามารถเรียกประชุมวุฒิสภา หรือตรวจสอบรัฐบาลได้ นอกจากนี้การอภิปรายของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว.สรรหา ยังได้เรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาใช้เวลา 15 วันก่อนลงมติวาระ 3 ไตร่ตรองข้อกฎหมายให้ดี ก่อนร่วมลงมติผ่านความเห็นชอบ เพราะมั่นใจว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดำเนินการผิดขั้นตอน และน่าจะเป็นโมฆะ

แต่ก่อนที่สถานการณ์จะบานปลายออกไป นายนิคมซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมได้ขอรอมชอมให้อภิปรายต่อ ทำให้ที่สุดแล้วนายวรชัยได้ถอนญัตติไปและเดินหน้าอภิปรายต่อ

นอกจากนี้ ในระหว่างที่นายสมชายอภิปรายได้ขอให้นายนิคมอย่าเร่งปิดอภิปรายและลงมติดังเช่นที่ผ่านมา และขอให้ประธานอย่าร้องไห้เหมือนบรรยากาศการประชุมเมื่อวานนี้(10 ก.ย.) ทำให้นายนิคมไม่พอใจ ขอให้นายสมชายถอนคำพูด ซึ่งนายสมชายก็ยอมถอนคำพูดในที่สุด

ด้านนายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายตั้งข้อสังเกตกรณีการคงมาตรา 10 ไว้ว่า อาจทำให้เกิดสุญญากาศในวุฒิสภา กรณีกำหนดให้ไม่ต้องดำเนินการสรรหา ส.ว.อีก เพราะหากฝ่ายค้านยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหลังลงมติวาระ 3 เชื่อว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ไม่ทันกับวาระของ ส.ว.เลือกตั้งชุดปัจจุบันที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคมปีหน้า ส่งผลให้การเลือกตั้ง ส.ว. ยังใช้กฎหมายเดิม ซึ่งจะมี ส.ว.เลือกตั้งชุดใหม่ จำนวน 77 คน เข้ามาทำหน้าที่ร่วมกับ ส.ว.สรรหาชุดปัจจุบัน 73 คน ซึ่งหาก ส.ว.สรรหา เสียชีวิตลง จะไม่สามารถสรรหา ส.ว.มาแทนตำแหน่งที่ว่างลงได้ และขณะนี้มีแนวโน้มสูงที่จะเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น เพราะมีการเขียนกฎหมายล็อคไว้ ทั้งนี้ฝ่ายค้านจะยื่นให้ไต่สวนเป็นรายบุคคลที่ร่วมลงมติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทำให้เชื่อว่ากระบวนการไต่สวนของศาลจะใช้เวลานาน ซึ่งไม่ทันกับการเลือกตั้ง ส.ว.ปีหน้าอย่างแน่นอน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ